ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม วัดกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี แนะบุคลากรทางการแพทย์ ทำความเข้าใจความจริงของกระแสชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ใช้พรหมวิหาร 4 ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เมตตาให้ผู้ป่วยเป็นสุข กรุณาเมื่อเป็นทุกข์

โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2567 ในหัวข้อ "ชีวาภิบาล สร้างสุขภาวะ พระสงฆ์ไทย " ณ ห้องประชุมสลากกินแบ่งรัฐบาลชั้น 9 ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ ในวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2567 ภายในงาน พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม วัดกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี บรรยายพิเศษในหัวข้อ มุมมองทางธรรมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

เข้าใจความจริงของกระแสชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย

พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม บรรยายธรรมตอนหนึ่งว่า พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ขับเน้นเรื่องปัญญา โดยหลักการในทางพุทธ ไม่ได้ละทิ้งทั้งในมุมของความเชื่อ นำคำสอนไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องเข้าใจระบบความจริงของชีวิตก่อน ทุกคนต้องเผชิญความทุกข์ เกิดมาเพื่อที่จะต้องแก่ เจ็บ ตาย ในทุกกระแสชีวิต เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น เป็นทุกข์ของธรรมชาติ 

"เหตุที่เป็นทุกข์ใจ เพราะเราปรารถนา คาดหวัง คำสอนจะทำให้เห็นความจริงของกระแสชีวิต กระบวนการของชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อายุปกติของคนอยู่ที่ 75-80 ปี ประมาณ 4 หมื่นวันเท่านั้น"

พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม เสริมว่า กลไกชีวิต เมื่อเจ็บไข้ขึ้นมาก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน เมื่อป่วยหรือเจ็บอย่างหนักจนไม่สามารถทนหรือต่อสู้ได้ ร่างกายก็จะปิดสวิทช์ลงหรือคือ ความตาย คนที่สัมพันธ์กับคนที่เจ็บไข้ควรจะเข้าใจระบบที่เป็นธรรมชาติ เช่น เมื่อใกล้จะเสียชีวิต อวัยวะทุกส่วนต้องหยุดทำหน้าที่ กลไกของสมองจะหลั่งสารความสุขออกมา ตอนนั้นจะเห็นว่า ผู้ป่วยมีอาการฟื้นตัว นั่นคือ วาระสุดท้าย ใกล้จะมาถึง เมื่อเข้าใจระบบของร่างกายทั้งหมดจึงจะคลายกังวล เพราะเป็นการช่วยให้ถึงที่สุดแล้ว

ใช้พรหมวิหาร 4 ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม เพิ่มเติมว่า เวลาจะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เมื่อต้องไปสัมพันธ์ด้วยให้ยก พรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา มาปรับใช้ในบางข้อ เช่น

  • เมตตา เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการดูแลหรือประสบปัญหา ให้มีความปรารถนาให้ผู้ป่วยเป็นสุข ร่างกายและจิตใจดีขึ้น ด้วยเมตตา 
  • กรุณา เมื่อผู้ป่วยมีอาการแย่ลง ก็ปรารถนาที่จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ไม่ควรไปโกรธ ใช้ความกรุณาเข้ามา
  • อุเบกขา เมื่อผู้ป่วยเป็นไปตามธรรมชาติ ให้วางใจเป็นกลาง 

"เมื่ออยู่กับผู้ป่วยต้องนำตัวเองไปประสาน สุข ทุกข์ ร่วมกัน ผู้ดูแลควรนั่งในใจผู้ป่วย รับฟังปัญหา แม้ว่าจะมีองค์ความรู้ แต่ก็ไม่ได้เอาความอยากของเราไปกดดันผู้ป่วย สำคัญที่สุด ควรวางความต้องการของตนเอง ความเห็นของตัวเอง ให้เราวางความต้องการของเรา เพื่อไม่ให้เครียด แล้วดูว่า ผู้ป่วยมีความต้องการอะไร เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีความหลากหลาย"

ใช้ความ "กรุณา" ปลดเปลื้องความทุกข์

พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม กล่าวอีกว่า ในผู้ป่วยที่ไม่ยอมกินยา ไม่ทำตามหมอบอก ถ้าไปห้ามหรือไปบังคับ ผู้ป่วยจะรู้สึกหงุดหงิด เพราะความป่วยทำให้หงุดหงิด ถูกความทุกข์เบียดเบียน เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้บุคลากรทางการแพทย์ควรวางความต้องการ ตั้งกรุณาจิต ให้ความกรุณา เช่น น่าสงสาร ให้มองว่า อยากปลดเปลื้องความทุกข์ ช่วยให้พ้นปัญหา 

"ปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยกรุณา เอาของให้ด้วยกรุณา พูดด้วยกรุณา"

พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม กล่าวว่า ให้อธิบายกับผู้ป่วยว่า สิ่งไหนจะเกิดขึ้นตามมา เช่น อยากกินอาหารที่หมอห้าม ให้บอกถึงปัญหาตามมาจากอาการป่วย ผู้ป่วยควรเลือกเอง แต่เมื่อตัดสินใจแล้ว ก็อยากให้ยอมรับ ต้องเข้าใจว่า โรคบางอย่างรักษาหาย ไม่รักษาก็ไม่หาย หรือโรคบางอย่าง รักษาก็ไม่หาย รักษาหรือไม่ก็ตาย ให้เข้าใจหลักการและความจริงตรงนี้

"ในช่วงเวลาที่ดูแลผู้ป่วย ให้เมตตาในช่วงที่ดี ๆ กรุณาเวลาเจอปัญหา วางใจเป็นกลางด้วยอุเบกขา เวลามีปัญหาให้รับฟัง ไม่ใช่แค่ดูแลอาการทางกายอย่างเดียว"

พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม ทิ้งท้ายว่า สิ่งดี ๆ ทั้งหลาย ทำเพื่อตนเอง ให้ทัศนคติความคิดดี ๆ ผลักออกไป ปลูกฝังอัธยาศัยดี ๆ ให้ตนเอง สิ่งเหล่านี้ไม่มีในตำรา ต้องฝึกเอง สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ความตั้งใจ แต่ทักษะ ความสามารถ ศักยภาพ ในการสื่อสารก็สำคัญ พูดได้กับสื่อสารเป็นนั้นต่างกัน โดยเฉพาะการสื่อสารในยามเจ็บป่วย

"คนไข้อยากเจอหมอบางคน อยากเจอพยาบาลบางคน เพราะพอมาแล้วคนไข้มีความสุข ตรงนี้สิ่งที่ควรทำ สร้างเครดิตให้ตนเองเป็นกุศล คอยเก็บเรื่องราว สาระที่พูดออกมาจากคนไข้ เพราะญาติไม่อยู่ แต่บุคลากรทางการแพทย์อาจจะเป็นคนอยู่ ในช่วงสุดท้าย ก่อนคนไข้จะจากโลกนี้ไป ทำให้เขาได้สิ่งดี ๆ ตรงนี้จะประเสริฐมาก"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- เสริมศักยภาพ "กุฏิชีวาภิบาลดูแลพระสงฆ์ระยะท้าย"ทุกมิติ ครอบคลุม 13 เขตสุขภาพใน กทม.

- "หมอแดง" ชี้ทางดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างไรให้มีความสุข...

- ประชุม “ชีวาภิบาล สร้างสุขภาวะ พระสงฆ์ไทย” เพิ่มศักยภาพบุคลากร ดูแลพระสงฆ์อาพาธ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง