ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการ สปสช. และนายธงชัย สิทธิยุโณ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี และนางไปยดา หาญชัยสุขสกุล รอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) นางนริศา มัณฑางกูร  ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ดร.ยุวดี เกตุสัมพันธ์ นายกสมาคมพยาบาลแผล ออสโตมีและควบคุมการขับถ่าย รศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข ผู้แทนเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งลำไส้และทวารหนัก และคณะผู้ใช้ป่วยที่ใช้นวัตกรรมฯลงพื้นที่ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยบริการ ในการใช้อุปกรณ์เก็บของเสียจากลำไส้ในผู้ป่วยผ่าตัดเปิดทวารเทียม (Colostomy bag) หรือถุงทวารเทียม ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมไทย

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ถุงทวารเทียมพัฒนาจากความร่วมมือบริษัทเอกชน โดยมี รศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต โดยบรรจุในบัญชีนวัตกรรมไทยและชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาเกือบ 400 บาทต่อชุด แต่ถุงนวัตกรรมของไทยราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่งประมาณ 200 บาท ขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งจัดซื้อ และนำไปใช้กับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่ผ่าตัดเปิดทวารเทียม 

"ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แพทย์และพยาบาลจะเป็นผู้ที่เจอผู้ป่วยโดยตรง คอยแนะนำวิธีใช้ การทำความสะอาด พร้อมแนะนำวิธีดูแลรักษา จึงสามารถสะท้อนความคิดเห็นเพื่อนำไปพัฒนา ถุงทวารเทียม ต่อไปให้ดีขึ้น  กลุ่มผู้ใช้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่เคยใช้ถุงทวารเทียมมาก่อน และกลุ่มที่ไม่เคยใช้มาก่อน สปสช.ได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้ใช้งาน สะท้อนไปยังบริษัท ขณะนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้ว อยู่ในระหว่างการกระจายสินค้าไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ แต่ก็ยังต้องพัฒนาอยากต่อเนื่อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดีขึ้นกว่าเดิม ปรับปรุงให้ถูกใจผู้ใช้งาน " ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงต้นของการใช้ถุงทวารเทียมที่ผลิตขึ้นโดยประเทศไทย เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2567 อาจยังมีความคุ้นชินน้อยกว่า ผู้ป่วยใหม่อาจปรับตัวได้ง่ายกว่า ช่วงแรก ๆ ให้ผู้ป่วยใช้ 100% แต่เมื่อทราบจากพยาบาลว่า ผู้ป่วยบางคนใช้แล้วมีอาการแพ้ จึงออกหลักเกณฑ์หากผู้ป่วยเข้าเงื่อนไข แพ้แล้วใช้ไม่ได้ ก็ยังใช้ถุงทวารเทียมแบบเดิมได้ เบิกจ่ายตามงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในผู้ป่วยแต่ละรายจะสามารถเบิกถุงทวารเทียมได้ 1 แป้น 10 ถุงก่อน โดยกำหนด 2-3 วันต่อ 1 ถุง ส่วนแป้นที่ติดกับร่างกายใช้ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ในแต่ละวันให้นำถุงออกมาล้างทำความสะอาดของเสียแล้วใส่กลับเข้าไป เงื่อนไขยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับการใช้งานของประชาชน หากจำเป็นต้องใช้มากกว่านั้น สามารถเบิกเพิ่มได้

"สปสช.สนับสนุนการใช้ถุงนวัตกรรม แต่คุณภาพและมาตรฐานยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังห่วงใย ทุกความคิดเห็นเรื่องถุงทวารเทียมจะนำไปปรับใช้เพื่อทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนนวัตกรรมในอนาคตที่กำลังจะเข้ามา ได้แก่ เท้าเทียมไดนามิก แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเทียมซึ่งมี 2 วัสดุ ไทเทเนียม กับอะคริลิก เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อไป" 

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยทวารเทียมในหลักประกันสุขภาพ มีผู้ป่วยทั้งหมด 301 คน มีผู้ใช้ถุงนวัตกรรม 129 คน และใช้ถุงอื่น ๆ 162 คน สำหรับข้อเสนอแนะของ รพ.สุราษฎร์ธานี ในการพัฒนาถุงนวัตกรรม เช่น อยากให้เพิ่มการยึดเกาะของแป้นถุงทวารเทียม เนื่องจากแป้นติดได้ไม่แน่น และให้ขนาดแป้นบางลง และพัฒนาให้ถุงสามารถเก็บกลิ่นได้ ลดเสียงดังของถุงขณะใช้งาน และพัฒนาปลายปิดถุงให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น

สำหรับข้อคิดเห็นจากหน่วยบริการที่สะท้อนมานั้น อาทิ แป้นปิดรอบลำไส้แข็งกว่าผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ ซึ่งก่อนการใช้งานจึงต้องทำการนวดแป้นก่อนประมาณ 30- 60 วินาที เพื่อให้เกิดความอ่อนตัวและแนบสนิทกับผิวหนังหน้าท้องได้ง่าย การติดถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้เข้ากับแป้นปิดรอบลำไส้ใช้งานยาก เพราะต้องประกบทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกัน 2-3 ครั้ง จึงจะแนบสนิทกันได้ รวมถึงความติดแน่นของกาวแป้นปิดรอบลำไส้ ด้วยคุณสมบัติของยางพาราทำให้แผ่นปิดรอบลำไส้สามารถติดกับผิวหนังได้อย่างเหนียวแน่นเป็นเวลานาน จึงควรพัฒนาให้การติดแน่นของแป้นกับผิวหนังค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา ให้ผู้ป่วยลอกแป้นปิดรอบลำไส้ได้ง่ายขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง