ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ราชวิถี เผยสถิติความสำเร็จใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดแล้ว 664 ราย ช่วยการรักษาที่ดีขึ้น ผ่าตัดรักษาโรคซับซ้อนหลายระบบอย่างแม่นยำ ลดภาวะแทรกซ้อน ฟื้นตัวเร็ว ลดเวลาการครองเตียง 

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถี ถือเป็นหน่วยงานหลักในสังกัดกรมการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ และเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในกระทรวงสาธารณสุขที่นำร่องด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เพื่อศึกษาพัฒนาการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาที่ซับซ้อน และการผ่าตัดรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการรักษาและลดภาวะแทรกซ้อน 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคที่ต้องอาศัยการผ่าตัดที่ซับซ้อนในหลายระบบได้ เช่น 

  • โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • โรคระบบโสต ศอ นาสิก ได้แก่ โรคของต่อมทอลซิล และมะเร็งที่โคนลิ้น
  • โรคในระบบศัลยศาสตร์ ได้แก่ โรคมะเร็งตับ และลำไส้ใหญ่
  • โรคในระบบนรีเวช ได้แก่ เนื้องอกมดลูก และโรคในระบบหัวใจและทรวงอก 

ผศ.(พิเศษ) นพ.ธเนศ ไทยดำรงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่โรงพยาบาลราชวิถีได้เปิดศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถีได้ดำเนินการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ไปแล้ว 664 ราย โดยเป็นการผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จำนวน 228 ราย การผ่าตัดตับ และตับอ่อนด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จำนวน 151 ราย การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองด้วยหุ่นยน์ช่วยผ่าตัด จำนวน 108 ราย การผ่าตัดเนื้องอกทางช่องปากด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จำนวน 22 ราย การผ่าตัดปอดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จำนวน 17 ราย และอื่นๆ

การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีหลังการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ทำการผ่าตัดผ่านช่องขนาดเล็ก ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัว และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดคือ ความแม่นยำในการผ่าตัดของมือหุ่นยนต์ ที่บังคับโดยศัลยแพทย์ ไปในที่เข้าถึงได้ยากในอุ้งเชิงกราน เช่นเดียวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่แพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยด้วยวิธีผ่าตัดแผลเล็กบาดเจ็บน้อย (Minimally invasive Surgery) เนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ในพื้นที่ลึกและแคบในอุ้งเชิงกราน โดยมือของศัลยแพทย์เข้าไปได้ลำบาก การมองเห็นไม่ชัดเจน ดังนั้น การนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่มีแขนกลเคลื่อนไหวได้ 7 ทิศทาง มีเทคโนโลยีภาพ 3 มิติ ช่วยทำให้มีความแม่นยำในการผ่าตัดมากขึ้น ให้ผลการรักษาที่เหนือกว่าในเรื่องขนาดแผลที่เล็ก ความเจ็บปวดที่น้อยกว่า ฟื้นตัวกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่น้อย รวมทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด ในการควบคุมการปัสสาวะหลังการผ่าตัดได้ดี