ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ เปิดเวทีรับฟังความเห็นทั่วไป ประจำปี 2567 เผย 2 ประเด็นหลักที่นำเสนอ “จัดสรรงบบัตรทองหลังถ่ายโอน รพ.สต.” และ “30 บาทรักษาทุกที่” พร้อมสรุปผลเตรียมเสนอเวทีรับฟังความเห็นฯ ระดับชาติต่อไป

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ จัดการประชุมสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ประจำปี 2567 โดยมี ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานในการเปิดการประชุม พร้อมรับมอบผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นฯ เพื่อเตรียมนำเสนอไปยังการประชุมสรุปผลการรับฟังความเห็นทั่วไปในระดับชาติต่อไป

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นทั่วไป เป็นกระบวนการที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งระบุให้ สปสช. ต้องจัดขึ้นทุกปี โดยแต่ละปีได้มีการกำหนด 7 ประเด็นในการแสดงความคิดเห็น แต่ด้วยการบริหารจัดการของ สปสช. มีการแบ่งเป็นเขตสุขภาพ 13 เขต จึงมีนโยบายให้แต่ละเขตสุขภาพออกแบบการรับฟังความคิดเห็นตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อจะมีประเด็นร่วมกันในการรับฟังความเห็น เพราะแต่ละเขตสุขภาพ เฉลี่ยแล้วมีประชากรราว 5 ล้านคน และไม่มีที่ไหนมีบริบทเหมือนกันเลย

ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ มีความแตกต่างจากปีก่อนๆ คือ บอร์ด สปสช. ได้กำหนดให้การรับฟังความคิดเห็นฯ สามารถทำได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่กระบวนการจัดเป็นวาระปีละครั้งเหมือนที่ผ่านมา อย่างวันนี้ที่ จ.เชียงใหม่ ทาง สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ก็มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมาระยะหนึ่งแล้ว ผ่านการลงพื้นที่และรับฟังเสียงสะท้อนควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานประจำ รวมถึงการให้สแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งก็ช่วยให้คนกล้าให้ความเห็นมากขึ้น เพราะบางคนเกรงใจไม่กล้าให้ความเห็นตรงๆ
 
อีกทั้งยังมีการจัดการรับฟังความเห็นสำหรับกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้พิการ ฯลฯ ด้วย ส่วนในวันนี้ที่จะมีการสรุปผลการรับฟังความเห็นกัน ทาง สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ก็ได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น ผู้ให้บริการจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นักวิชาการ ฯลฯ มาร่วมแสดงความเห็นอีกครั้งหนึ่ง และคัดกรองอีกรอบ 

“ดังนั้นในภาพรวมทาง สปสช. เขต จะรวบรวมมาให้ระดับหนึ่งแล้ว โดยรับฟังมาทุกความเห็นไม่มีการแย้ง จากนั้นในวันนี้ก็จะเป็นการนำมากรองว่าอันไหนเกินอำนาจหน้าที่ของ สปสช. หรือเปล่า ซึ่งจะมีการส่งต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นๆ  ส่วนอันไหนเป็นความเห็นในประเด็นเดิม ที่อาจจะมีการดำเนินการอยู่ แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงก็จะแจ้งกลับไปว่ามีการรับเรื่องนั้นมาแล้ว และเรื่องไหนเป็นเรื่องใหม่ก็จะเอามาสรุปในวันนี้” รองเลขาธิการ สปสช. ระบุ

ด้าน พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ประเด็นหลักของเขตเชียงใหม่ที่พูดถึงกันมาก ก็คือเรื่องการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หลังมีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การให้บริการของหน่วยบริการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ภายหลัง จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับเลือกให้นำร่องโครงการฯ ในระยะที่ 3 เมื่อ 1 พ.ค. 2567

“อย่าง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ที่ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ไปลงพื้นที่ติดตาม ก็จะมีประเด็นเช่น ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการยืนยันการรับบริการให้สะดวกขึ้นกว่าเดิม เพราะบางโรงพยาบาลต้องออกมาทำงานนอกเวลาราชการ เช่น การส่งข้อมูลที่เขาอาจส่งตอนเย็นไม่ทัน รวมถึงในส่วนของหน่วยนวัตกรรมบริการ” ผอ.สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ กล่าว

นอกจากนี้ หากเรื่องไหนแก้ไขได้เลยก็จะมีการเร่งดำเนินการเอง ไม่ได้รอถึงระดับชาติ อย่างในส่วนของ อปท. ที่ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ มีการส่งทีมไปประชุมร่วมกับหน่วยงานนั้นๆ ในแต่ละอำเภอและจังหวัด เพื่อดูการดำเนินการว่ามีปัญหาตรงไหน จะได้เข้าไปช่วย เช่น เรื่องความเข้าใจในเรื่องการบริการกองทุนบัตรทองของบุคลากรใน อปท. จากการที่มีบุคลากรปรับเปลี่ยนบ่อย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่รับมา และจะต้องไปหาแนวทางแก้ไขต่อ อย่างการทำหลักสูตร หรือไปเสริมสร้างความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาใหม่มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น