ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานสุขภาพคนไทยปี 2557 ชี้คนไทยน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 2 ทศวรรษ เทียบ 10 ประเทศในเอเชีย ชายไทยอยู่ในอันดับ 4 หญิงอันดับ 2 นำสู่โรคเรื้อรัง

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวหนังสือ "รายงานสุขภาพคนไทย 2557" ณ ลานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี หนังสือดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงภัยคุกคามสุขภาวะที่สำคัญในปีนี้ คือภาวะ "โรคอ้วน" ที่กำลังบั่นทอนสุขภาพคนไทยมากขึ้น

ดร.ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลทางร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาทิ อาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม และอาหารที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการในโรงเรียน ฯลฯ รวมถึงการมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบแบบคนเมือง มีกิจกรรมทางร่างกายลดลง และการใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น

 “ปัญหาขณะนี้คือเรามีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย และสิ่งแวดล้อมในการบริโภคอาหาร ซึ่งต้องปรับปรุงกันอย่างเร่งด่วนต่อไป ไม่เช่นนั้นปัญหาโรคอ้วนจะมีมากขึ้น เพราะ ณ ขณะนี้ประเทศไทยพบคนเป็นโรคอ้วน ในอันดับต้นๆของอาเซียนแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีปัญหานี้ได้ง่ายที่สุด"

รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2557 ระบุว่า โรคอ้วนถือเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวันอันควร จาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases : NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคซึมเศร้า ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ และโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น โดยคนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า

นอกจากนี้ ภาวะโรคอ้วนในประเทศไทย มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายในปี 2552 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่า 1 ใน 3 อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว เมื่อเทียบกับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2534-2552) และหากเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคพบว่า คนไทยอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซียเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ยังพบเด็กอ้วนตั้งแต่ในระดับปฐมวัย (อายุ 1-5 ปี) และวัยเรียน (อายุ 6-14 ปี) ขยายตัวมากจนน่าเป็นห่วง คือเด็กนักเรียนทุกๆ 10 คน จะพบผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนอย่างน้อย 1 คน

สถานการณ์โรคอ้วน มีความรุนแรงแตกต่างไปในแต่ละภูมิภาค เพิ่มขึ้นตามระดับการพัฒนาและฐานะทางเศรษฐกิจ โดยอัตราสูงสุดอยู่ในเขต กรุงเทพมหานคร และต่ำสุดใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดร.ชื่นฤทัย กล่าวว่า จากการศึกษาภาวะโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน ที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ พบว่า ในประเทศกำลังพัฒนาโรคอ้วนจะเกิดมากในเขตคนเมือง ครอบครัวที่มีฐานะ และผู้ที่มีรายได้สูง มากกว่าคนในชนบท แต่เมื่อประเทศนั้นๆมีการยกระดับการพัฒนาสูงขึ้น เศรษฐกิจเติบโต ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้น สถานการณ์กลับตรงกันข้าม เพราะกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคอ้วนจะกลายเป็นกลุ่มคนจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทางเลือกในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพได้น้อยกว่า ขณะที่อาหารฟาสต์ฟู้ด อหารจานด่วน มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำแต่ให้พลังงานสูง จะมีราคาถูกลง ทำให้คนจนมีโอกาสซื้อได้เพิ่มขึ้น แต่คนรวยจะหันมาเลือกซื้ออาหารที่ดีกับสุขภาพและป้องกันโรคได้ดีกว่า ดังนั้น การจัดการกับโรคอ้วนจึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่ปลายทางหรือส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องแก้ไขในระดับโครงสร้าง ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย

"ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไขในเรื่องนี้อย่างทันที ไม่ควรปล่อยให้บานปลายหรือปัญหาหนักหน่วงจนยากจะเยียวยา โดยทางออกขณะนี้ เริ่มขับเคลื่อนโดยมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อาทิ การแก้ปัญหาโรคอ้วน , การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ , การจัดระบบอาหารในโรงเรียน หรือยุทธศาสตร์สร้างสุขภาวะชุมชน ก็ล้วนเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้ปัญหานี้ลดลงได้ในประเทศไทย"

เรื่องที่เกี่ยวข้อง