ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รอง ผอ.รพ.บ้านแพ้วชี้จุดต่างระบบบัญชีเมื่อเทียบกับ รพ.รัฐอื่นๆ เพราะองค์การมหาชนต้องถูก สตง.ตรวจสอบทุกปี ทำให้ได้ข้อแนะนำไปปรับปรุงจนระบบบัญชีได้รับการพัฒนาและผ่านการรับรองจาก สตง. ขณะที่โรงพยาบาลรัฐอื่นๆไม่มีข้อกำหนดให้ สตง.เข้าไปตรวจสอบ จึงไม่ได้รับการรับรองงบการเงิน

น.ส.นุชนารถ กลับบ้านเกาะ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวถึงข้อแตกต่างของระบบบัญชี รพ.บ้านแพ้ว ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้การรับรองงบการเงิน กับบัญชีของโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการรับรองจาก สตง.ว่า โดยปกติแล้วระบบบัญชีของบ้านแพ้วกับโรงพยาบาลรัฐหรือแม้แต่หน่วยงานรัฐอื่นๆ ไม่แตกต่างกัน เพราะใช้ระบบการบัญชีภาครัฐตามที่กระทรวงการคลังกำหนดเหมือนกันหมด

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ รพ.บ้านแพ้วเป็นองค์การมหาชน ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ว่าจะต้องถูกตรวจสอบและรับรองบัญชีทุกปีโดย สตง. หรือหน่วยงานภายนอกที่ สตง.ให้การรับรอง ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐอื่นๆ อาจจะทำแค่ส่งข้อมูลให้กระทรวงหรือส่งข้อมูลไปรวมในระดับประเทศ แต่ สตง.ไม่ได้เข้าไปตรวจบัญชี ตรวจเอกสารย้อนหลังเหมือน รพ.บ้านแพ้ว เมื่อ สตง.ไม่ได้เข้าไปตรวจจึงไม่ได้รับรองงบการเงินแต่อย่างใด

“อาจมีเพียงบางหน่วยงานที่ สตง.จะเข้าไปตรวจเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่หน่วยงานรัฐทั่วไป ถ้าไม่มีประเด็นหรือเรื่องร้องเรียน โดยปกติ สตง.ก็ไม่ได้เข้าไปตรวจเว้นแต่เป็นข่าวหรือมีการร้องเรียน” น.ส.นุชนารถ กล่าว

น.ส.นุชนารถ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ รพ.บ้านแพ้วออกนอกระบบในปี 2543 ก็เลือกให้ สตง. เข้ามาตรวจสอบงบการเงินต่างๆ โดยหลังสิ้นปีงบประมาณจะต้องส่งงบการเงินให้ สตง.ภายใน 90 วัน จากนั้น สตง.จะส่งคนมาอยู่ที่บ้านแพ้ว 2-3 เดือนเพื่อตรวจสอบเอกสารย้อนหลัง ด้วยเหตุนี้จึงให้การรับรองงบการเงินของ รพ.บ้านแพ้วได้ และการตรวจสอบของ สตง. นอกจากจะดูว่าบวกลบตัวเลขผิดหรือไม่แล้ว ยังดูในหลายๆ มิติ เช่น ประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินว่ามีความคุ้มค่าคุ้มประโยชน์หรือไม่ เมื่อตรวจดูแล้วยังมีการให้ข้อสังเกต ข้อแนะนำ ส่วนโรงพยาบาลก็นำไปปรับปรุงเรื่อยๆ ทำให้ระบบบัญชีของ รพ.บ้านแพ้วได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“สตง.จะมาแค่ช่วงเดียวคือหลังส่งงบการเงิน เขาถึงมาตรวจเอกสารย้อนหลัง แต่เขาดูประสิทธิภาพ เช่น รายได้เดือนนี้หมวดนี้ทำไมถึงตก เกิดอะไรขึ้น หรือค่าใช้จ่ายทำไมอยู่ดีๆค่าไฟพุ่ง ค่ายาทำไมพุ่ง ดังนั้นในระหว่างปีมันเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ถ้ามีอะไรผิดปกติเราก็ต้องเข้าไปดู ซึ่งโรงพยาบาลรัฐอื่นๆอาจจะขาดเรื่องนี้ไปเพราะเขาอาจไม่ค่อยเดือดร้อน แต่เราเดือดร้อน เราก็ต้องดูตลอด ดูทั้งบัญชี ทั้งเงินสดในมือ”น.ส.นุชนารถ กล่าว

นอกจากนี้ ด้วยความที่ รพ.บ้านแพ้ว ไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐ ต้องเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอด จึงต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของการใช้เงินและความคุ้มค่าที่ได้รับ จึงต้องอัพเดทงบการเงินอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน เพื่อที่จะได้ทราบสถานการณ์และปรับตัวแก้ไขได้ทัน จุดนี้อาจแตกต่างจากโรงพยาบาลของรัฐซึ่งรับเงินจากรัฐบาลและไม่มีข้อกำหนดว่าต้องถูกตรวจสอบบัญชีโดย สตง.ทุกปี ดังนั้นปีหนึ่งก็อาจจะทำบัญชีครั้งหนึ่ง หรือนานๆค่อยมาอัพเดทงบ ทำให้อาจจะปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์

อนึ่ง ประเด็นเรื่องระบบบัญชีของโรงพยาบาลรัฐ เป็นประเด็นหนึ่งที่ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนำเสนอข้อมูลการบริหารงานระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน เคยตั้งข้อสังเกตว่าระบบบัญชีของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขยังมีลักษณะซับซ้อน ไม่เอื้อให้ทั้งผู้บันทึกบัญชีและผู้บริหารโรงพยาบาลซึ่งจะต้องใช้บัญชีนั้นในการบริหารงาน เข้าใจในระบบการเงินของโรงพยาบาลได้เพียงพอจนสามารถวินิจฉัยได้ว่าในกรณีที่มีปัญหาการเงิน มีสาเหตุมาจากปัจจัยใด และผลจากการมีระบบบัญชีที่ไม่นิ่งจึงส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะการปรับเกลี่ยงบประมาณของหน่วยบริการในกระทรวงสาธารณสุขเอง

ตัวอย่างเช่น กรณีการนำเสนอข้อมูลโรงพยาบาลที่มีวิกฤติการเงินระดับ 7 ในเดือน ธ.ค. 2557 จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การกำหนดผังบัญชีและการบันทึกบัญชีบางรายการส่งผลต่อการสรุประดับความเสี่ยงทางการเงินของโรงพยาบาล ทำให้สถานะทางการเงินเป็นไปในทิศทางที่มีปัญหามากกว่าที่เป็น เช่น พบว่ามีรายได้จากการได้รับโอน แต่ไม่ได้บันทึกเป็นรายได้ 1,177.76 ล้านบาท และ หนี้สินไม่หมุนเวียน รับรู้เป็นหนี้สินหมุนเวียน 1,247.75 ล้านบาท จึงทำให้ผลการวิเคราะห์แย่กว่าที่เป็น หรือข้อมูลที่ระบุว่ามีการยกหนี้ให้กันระหว่างหน่วยบริการ 8,398.57 ล้านบาทนั้น เป็นข้อมูลที่มาจากรายงานของข้อมูลการเงินโรงพยาบาลซึ่งเรียกเก็บตามแต่ละโรงพยาบาลกําหนด ขณะที่การส่งต่อจะมีอัตราจ่ายชดเชยตามที่กําหนดไม่ได้จ่ายตามที่โรงพยาบาลเรียกเก็บ

ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงควรมีมีระบบบัญชีที่แสดงสถานะการเงินเทียบเท่าระบบรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องได้มาตรฐานการรับรอง และมีการตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขที่เคร่งครัด โดยผู้ตรวจสอบภายนอกที่เป็นกลาง ถูกต้องทั้งมาตรฐานและตัวเลขทางบัญชี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง