ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.61 ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขร่วมหารือการพัฒนาระบบ Value Based-Healthcare ในงานเสวนา Thailand Value Based-Healthcare and Primary Care Reform ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี จัดโดยกรมการแพทย์ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ และสำนักสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ศ.นพ.Rifat Atun นักวิชาการจาก Global Health System มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Professor of Global Health Systems at Harvard University, and the Director of Global Health Systems Cluster at Harvard T.H. Chan School of Public Health.)กล่าวว่า valued-based healthcare มีหลักการสำคัญ ได้แก่ การจ่ายค่าสุขภาพอย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ การบริหารอย่างโปร่งใส การแบ่งภาระหน้าที่ระหว่างผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี และการเฉลี่ยความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบหลักคือการสร้างระบบข้อมูลที่มีการวิเคราะห์แบบตามเวลาจริง (real time) เพื่อทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Atun ยังกล่าวอีกว่าประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักรและสวีเดน ได้มีการนำระบบ valued-based healthcare ไปใช้ในการรักษา และพบว่าได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ การทำให้ระบบ valued-based healthcare เกิดขึ้นได้จริงต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะสามารถระบุปัญหาและความต้องการในระบบได้ถูกจุด และยังต้องตรวจทานการปฏิบัติงานในระบบว่าใช้ได้จริงหรือไม่ในบริบทท้องถิ่น มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง มีการแข่งขันระหว่างหน่วยรักษาพยาบาลอย่างเป็นธรรม และมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่หยุดนิ่ง

“คำถามอยู่ที่ว่า เราจะสามารถทำให้ระบบนี้เกิดขึ้นจริงได้เร็วแค่ไหน” Atun กล่าว “หากประเทศไทยทำในสิ่งที่ทำอยู่ ก็อาจเป็นตัวอย่างให้กับโลกได้”

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหากมีการใช้ระบบ valued-based healthcare ในประเทศไทยได้จริง จะทำให้คุณภาพการรักษาและการให้บริการดีขึ้นอย่างมาก และช่วยลดงบประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาทจากค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

การทำระบบ valued-based healthcare อยู่ภายใต้แนวคิด SAFE (Sustainability, Adequacy, Fairness, Efficiency) มุ่งยกระดับประสิทธิผลและประสิทธิภาพของระบบการดูแลสุขภาพ โดยการพัฒนาระบบ valued-based healthcare ในขณะนี้มีการกำหนด 6 ประเด็นเป้าหมายหลัก ได้แก่ การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล การจัดการโรคเรื้อรัง กลุ่มโรคที่ป้องกันได้ ความเหมาะสมของการใช้ระบบบริการสุขภาพ การป้องกันเหตุการณ์หรือกรณีไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล และการป้องกันภาวะพิการ

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีวางโรดแมปเพื่อสร้างระบบการพัฒนากลไกการจ่ายแบบประเมินมูลค่า (Value-Based Payment) เพื่อทำให้ระบบมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยขั้นตอนในโรดแมปประกอบด้วย การทำคู่มือการให้บริการด้านสาธารณสุข (healthcare service guideline) เน้นการพัฒนาระบบปฐมภูมิให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องหาวิธีการให้การรักษาที่มีค่าใช้จ่ายเหมาะสมและมีผลลัพธ์ที่ดี พัฒนาระบบข้อมูลให้มีการเชื่อมต่อและบูรณาการระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ รวมทั้งสร้างโมเดลการจ่ายเงินที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นต้องดูบริบทในประเทศไทยเป็นหลัก เนื่องจากประเทศไทยมี 3 กองทุนรักษาพยาบาลที่มีกลุ่มเป้าหมาย การเบิกจ่าย และสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน และยังมีงบประมาณการรักษาที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งลักษณะโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลของภาครัฐถึง 75%

“สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบ valued-based healthcare คือข้อมูล” Hsein-Hsein Lei รองประธานบริษัท Medtronic ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าว

บริษัทได้พัฒนาซอฟแวร์ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างคนไข้และผู้ให้การรักษา ในกรณีโรคเรื้อรังและโรคที่มีราคาแพง เช่น โรคความดันและโรคไต โดยมีการบันทึกข้อมูลสุขภาพและการรักษาในอดีตของคนไข้ โดยคนไข้จะได้รับการดูแลรักษาอยู่ภายนอกคลีนิคหรืออยู่ที่บ้าน โดยผู้ให้การรักษาเฝ้าติดตามคนไข้ทางโทรศัพท์หรือการส่งข้อความ คนไข้สามารถมีส่วนร่วมในการรักษา และมีความรู้เรื่องการดูแลตัวเองที่ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถให้ความรู้ในการรักษาสุขภาพและเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้เบาหวานได้สำเร็จ

ขอบคุณภาพจาก Interoperability Provides the Key to Value-Based Healthcare

เรื่องที่เกี่ยวข้อง