ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554 หน้า A6

ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม(สปส.) จ่ายเงินให้กับหน่วยบริการคู่สัญญาด้วยการคิดอัตราเหมาจ่ายรายหัวทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในช่องว่างของการจ่ายเงินในลักษณะนี้ คือ เมื่อโรงพยาบาลได้รับเงินแล้วก็จะพยายามควบคุมการให้บริการไม่ให้เกินวงเงินที่ได้รับต่อหัว

ตัวอย่างเช่น สปส.จ่ายเงินให้โรงพยาบาล 2,108 บาท/ผู้ป่วย 1 คน/ปี หากผู้ป่วยเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด โรงพยาบาลก็มักจะหลีกเลี่ยงการรักษาจึงไม่แปลกที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมซึ่งป่วยด้วยโรคค่าใช้จ่ายสูง อาทิ โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ จะถูกเตะถ่วงหรือยื้อการรักษาออกไป

ต่อคำวิพากษ์ปัญหาข้างต้น สปส.ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม ศึกษาแนวทางการปรับระบบการจ่ายเงินแก่โรงพยาบาล

ล่าสุด ได้ข้อสรุปว่าจะคงการเหมาจ่ายรายหัวให้กับผู้ป่วยนอก และปรับเปลี่ยนการจ่ายเป็นจ่ายตามกลุ่มโรคร่วม (ดีอาร์จี) ให้แก่ผู้ป่วยใน

สำหรับดีอาร์จี อธิบายให้เข้าใจโดยง่าย คือ การจ่ายเงินตามกลุ่มโรค โดยมีค่า RW เป็นเกณฑ์ เช่น โรค ก. เป็นโรคร้ายแรง กำหนดค่า RW ไว้เท่ากับ3 สปส.ก็ต้องกำหนดอัตราไว้ว่าจะจ่ายRW ละเท่าไร โรค ก. มีค่า RW เท่ากับ 3 ก็ต้องคูณ 3 เข้าไป

คำถามคือ อัตราที่เหมาะสมต่อ 1 RW คือเท่าใด

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุลผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์สปส. ระบุว่า เบื้องต้น สปส.ได้กำหนดตัวเลขค่าใช้จ่ายในระบบดีอาร์จีไว้ที่ 1.5 หมื่นบาท/น้ำหนักเฉลี่ยต่อความรุนแรงของโรค (RW) ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายอยู่ที่ 9,000 บาท/RW

"ที่ตั้งตัวเลขไว้สูงกว่าเนื่องจากต้องการให้โรงพยาบาลคู่สัญญาอยู่ได้และให้บริการผู้ประกันตนได้อย่างสบายใจ" นพ.สุรเดช กล่าว

อัตราการจ่าย 1.5 หมื่นบาท/RW นี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากโรงพยาบาลคู่สัญญาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรปรับเปลี่ยน และมีบางรายเสนอให้สปส.จ่ายถึง 2 หมื่นบาท/RW

หลังจากนี้จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์เพื่อพิจารณาในวันที่ 5 ต.ค.นี้ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียด คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) ได้ทันที

นพ.วินัย สวัสดิวรเลขาธิการสปสช. ยอมรับว่า สปสช.ไม่มีงบประมาณพอที่จะจ่ายเงินได้สูงถึง 1.5 หมื่นบาท และหาก สปส.จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลตามอัตรานี้จริง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี

"จากนี้ก็ต้องดูต่อไปว่าโรงพยาบาลจะเลือกรับรักษาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก่อนผู้ป่วยอื่นหรือไม่" นพ.วินัย ตั้งข้อสังเกตถึงความเหลื่อมล้ำในอนาคต

ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดมเลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน มองว่าการจ่ายเงินราคาสูงเพื่อดึงลูกค้า โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเอาไว้ ต้องยอมรับว่า สปส.ไม่มีบุคลากรพอที่จะสามารถควบคุมคุณภาพของหน่วยบริการได้

นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักประกันใดยืนยันได้ว่าการจ่ายเงินเพิ่มจะทำให้โรงพยาบาลรักษาผู้ประกันตนดีขึ้น ส่วนตัวกังวลว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเท่านั้น

สำหรับสถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลคู่สัญญากับ สปส. นพ.เหลือพร ปุณณกันต์กรรมการการแพทย์ สปส. ให้ข้อมูลว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนถอนตัวออกจากระบบประกันสังคมถึง 13 แห่ง เนื่องจากแบกรับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลไม่ไหว โดยในปี 2553 มีโรงพยาบาลคู่สัญญาขาดทุนถึง 79 แห่งจากทั้งหมด 242 แห่ง

ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกรณีส่งต่อผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2548 อยู่ที่2.82% เพิ่มเป็น 3.68% ในปี 2552