ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันที่ 12 พฤษภาคม 2555 นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่าย 50 คน ขนต้นกล้วยกว่า 10 ต้น ไปให้การนิคมฯมาบตาพุด นำไปปลูกเป็นแนวป้องกันสารพิษจากโรงงาน โดยมี ดร.วีรพงศ์ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผบก.ภ.จว.ระยอง นายประทีปเอ่งฉ้วน ผอ.การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและกำลังตำรวจชุดปราบจลาจล 30 นายเตรียมพร้อม

โดยนายสุทธิได้ยื่นหนังสือให้แก่ ดร.วีรพงศ์ กรณีเหตุระเบิดและเกิดเพลิงไหม้บริษัทบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และมีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 142 ราย รวมทั้งเกิดก๊าซรั่วในโรงงานบริษัท อดิตายาเบอร์ล่า เคมีคัลส์(ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ต.ห้วยโป่ง จากนั้นยื่นหนังสือแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่ ผู้ว่าฯ กนอ.ผอ.สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และ ผอ.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ฐานละเว้นตามมาตรา 157 โดยพล.ต.ต.ปรีชาเป็นผู้รับหนังสือแจ้งความ

สำหรับข้อเสนอ 9 ข้อที่เครือข่ายฯ เรียกร้อง ได้แก่

1.ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใสต่อสาธารณชน เช่นจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นจริงมีจำนวนเท่าไหร่แน่

2.ให้รัฐบาลและโรงงานอุตสาหกรรม นำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติพ.ศ.2553-2557 มาบังคับใช้

3.ฟื้นฟูและบำบัดเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติสุขภาพและสังคม

4.สร้างระบบเรื่องการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นระบบและเป็นธรรมรวมทั้งการชดเชยสวัสดิการแก่กลุ่มประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้ ที่ไหลลงสู่ทะเล

5.ดำเนินคดีหน่วยงานที่กระทำผิดฐานละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

6.จัดทำประกาศผังเมืองรวมอย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำแนวกันชนและแนวป้องกัน

7.จัดทำบัญชีการครอบครองวัตถุอันตราย บัญชีการระบายมลพิษ และแจ้งข้อมูลให้ประชาชน หน่วยงานสาธารณสุขรับทราบ

8.เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการไตรภาคี ชุดที่เข้าตรวจสอบโรงงาน และภาระหน้าที่ต่อสาธารณชน

9.ทบทวน ระงับ นโยบายการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมฯ

 

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 14 พ.ค. 2555 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง