ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภก.เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันขยะอันตราย คือ ขยะที่เกิดจากระบบอุตสาหกรรม มีบางส่วนที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม บางชนิดอาจมีสารเคมีที่เป็นพิษหรือสารไวไฟ หรือสารกัดกร่อน หากจัดการไม่ถูกวิธีหรือไม่ระวังจะทำให้สารเคมีรั่วซึมออกมา เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของคนและสิ่งแวดล้อมได้ และอาจสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน โดยโลหะหนัก สารเคมี สารอันตรายที่ปนเปื้อนในขยะอันตราย เข้าสู่ร่างกายได้จากการหายใจทางจมูกและปาก

ภก.เชิดเกียรติ กล่าวว่า ลักษณะการเจ็บป่วยจากสารพิษหากเป็นพิษแบบเฉียบพลันมักเป็นการสัมผัสเกิดขึ้นในครั้งเดียว เวลาสั้น เช่น 1 นาที ถึง 2-3 วัน มีอาการผดผื่นคัน ระคายเคือง ผิวหนังไหม้ อักเสบ ถึงขั้นหมดสติ หากเป็นแบบเรื้อรัง สัมผัสสารอันตรายปริมาณต่ำ แต่นานทุกวันถึงเป็นปี เสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง โรคพิษตะกั่วเรื้อรัง โรคทางระบบประสาท ระบบเม็ดเลือด อื่นๆ จึงควรทิ้งขยะที่ถูกต้อง แยกขยะอันตรายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะสิ่งที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม แมงกานีส ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟเก่า ยาฆ่าแมลง สารที่ติดไฟง่าย หรือไวไฟ เช่น กระป๋องแอลกอฮอล์ กระป๋องสเปรย์ พลุ ประทัด สารมีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง มีสัญลักษณ์เตือนวัตถุอันตราย และขยะที่มีเลือดเปรอะเปื้อนมาก

ที่มา : นสพ.ข่าวสด 8 มิ.ย.55