ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตหญิงไทยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ปัจจุบันมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคนี้วันละ 15 คนและในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 หมื่นคน

มะเร็งปากมดลูกนั้นสามารถตรวจและสืบค้นได้ตั้งแต่เซลล์เริ่มผิดปกติ ซึ่งการดำเนินโรคจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาค่อนข้างนาน ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อไวรัสหูด HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ จนเซลล์เริ่มแบ่งตัวผิดปกติเป็นเซลล์ระยะก่อนเป็นมะเร็ง จนถึงเป็นมะเร็งระยะต้น ใช้เวลานานเกือบ 10 ปี

ด้วยเหตุนี้แนวทางการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหาเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มแรก เพราะการรักษาระยะแรกหายขาด ถ้ารอมาตรวจพบตอนลุกลามแล้วอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ก็จะเป็นอย่าง 10 ปีที่ผ่านมา คือ ตรวจพบมะเร็งระยะ3 และ 4 รวมกันประมาณ 33% ของการป่วยมาตรการเชิงรุกต่อโรคนี้ต้องทบทวนกันอย่างจริงจัง ทั้งด้านการให้ความรู้และการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรอง

ปัญหาที่ถูกมองข้ามมานาน คือ อัตราการเข้ารับการตรวจคัดกรองต่ำในกลุ่มสาวโรงงานจากความรู้ใหม่เกี่ยวกับระบาดวิทยาของโรคมะเร็งปากมดลูก สาวโรงงานจัดว่าเป็นกลุ่มสตรีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากกลุ่มหนึ่ง เพราะมีโอกาสสัมผัสไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และมีโอกาสที่จะได้รับไวรัสหลากสายพันธุ์จากที่ผิดหวังในความรักจนทำให้ได้สัมพันธ์กับเพื่อนชายหลายคน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับประชาชนทุกสิทธิตามกฎหมาย จะตรวจคัดกรองให้ฟรีสำหรับผู้หญิงไทยอายุ 30-60 ปี โดยเฉพาะผู้ประกันตนระบบประกันสังคมในโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

จากการสำรวจสิทธิที่ลงทะเบียนการตรวจกับ สปสช. พบว่า 95% ของพนักงานสตรีในโรงงานไม่เคยตรวจคัดกรองอย่างเป็นระบบมาก่อน และขาดความไม่รู้เกี่ยวกับโรคและปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งมีความกลัวจะพบสิ่งผิดปกติ พบแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร และที่สำคัญการไปตรวจคัดกรองไม่อยู่ในสิทธิประกันสังคม ถ้าจะตรวจต้องจ่ายเงินเอง จึงทำให้ไม่ไปตรวจคัดกรอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสามารถดำเนินการจนถึงขั้นตรวจคัดกรองได้ และพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ดังตัวอย่างผลการตรวจคัดกรองในโรงงานแห่งหนึ่ง มีผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยสมัครใจ 4,218 คนจากผู้มีสิทธิตรวจคัดกรอง 11,100 คน พบว่า2,163 คน ไม่พบเซลล์ผิดปกติ 2,008 คน มีอาการตกขาว 44 คน อยู่ในระยะก่อนจะเป็นมะเร็ง และ 3 คน เป็นมะเร็งระยะที่ 1 หรืออาจจะมากกว่า ถือเป็นการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกกลุ่มใหญ่ที่สุดพร้อมๆ กันเพราะพบทีเดียว 47 คน คิดเป็น 1.1% ของผู้เข้ารับการตรวจ ขณะที่อัตราความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองทั่วไปหรือระดับประเทศจะตรวจพบที่ 0.3% เท่านั้น

ข้อมูลนี้บ่งบอกว่า1.สาวโรงงานที่มีชีวิตแบบนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาแก่กลุ่มเสี่ยงนี้ให้ได้

2.ประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจนั้นมีความสำคัญ การใช้แปรงสำหรับการตรวจ Thin Prep มาป้ายเก็บเซลล์แทนที่จะใช้ไม้ไอติมอย่างที่ผ่านมา สามารถเก็บเซลล์ได้มากพยาธิแพทย์มีความมั่นใจในการรายงานผล ทำให้ค้นพบผู้ป่วยได้มากกว่า เนื่องจากสปสช.จ่ายค่าตรวจแบบเหมารวมทำให้ประมาณการได้ว่าจากการลงทุนตรวจคัดกรองระบบเดิมจะเป็นเงินประมาณ 8.4 หมื่นบาทต่อการพบ1 คนเทียบกับ 22,700 บาท กับการตรวจในโรงงานครั้งนี้ จึงมีความคุ้มค่าในการคัดกรองมากกว่า

การพัฒนาประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองร่วมไปกับการโฟกัสกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของการคัดกรองและการรักษาโรคได้ บางทีเราอาจต้องคัดกรองกลุ่มสาวโรงงานตั้งแต่อายุ 25-50 ปี ต่างกับกลุ่มอื่นๆเพราะจากการสำรวจพบว่า 75% ของคนกลุ่มที่มาตรวจในครั้งนี้สัมผัสไวรัสก่อนอายุ 25 ปีและจากข้อมูลเด็กผู้หญิงเริ่มมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของการกำหนดอายุของเด็กที่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพราะต้องไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลย วัคซีนจึงจะได้ผล

สปสช.ดำเนินการตรวจคัดกรองพบผู้ป่วยจำนวน 47 คน ขั้นตอนการรักษา คือ การไปรับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม 47 คน ที่ตรวจพบเซลล์ผิดปกติ ขึ้นทะเบียนไว้กับโรงพยาบาลเอกชน 6 แห่ง จึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่ตนมี ซึ่งควรจะไม่ยุ่งยากเสียเวลา แต่ระบบการรักษาของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ทำหน้าที่หลายด้านเรื่องที่ควรง่ายก็กลายเป็นเรื่องยาก

ทั้งที่ตามขั้นตอนปกติเมื่อผู้ป่วยตรวจพบเซลล์มะเร็ง โรงพยาบาลจะใช้กล้องชนิดบริเวณปากมดลูกเพื่อตรวจดูบริเวณเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ อาจตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่ม หรือใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นขดลวดที่มีความร้อนปาดเนื้อเยื่อที่เป็นเซลล์มะเร็งออกเพียงเท่านี้ก็รักษาให้หายขาด แต่โรงพยาบาลทั้ง 6 ไม่มีกล้องส่องและเครื่องปาดผิวปากมดลูกทั้งที่เป็นเครื่องมือมาตรฐานและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขระดับ 100 เตียงขึ้นไปมีใช้รักษา

ความจริงจากกรณีนี้ก็คือ แม้กระทั่งการรักษามะเร็งระยะที่ง่ายที่สุดก็ยังต้องส่งตัวไปรักษาที่อื่นซึ่งขั้นตอนการส่งต่อตามระบบประกันสังคมยุ่งยากมาก โรงพยาบาลเอกชนไม่ยอมรับผลตรวจจากโครงการตรวจคัดกรองของสปสช. ทั้งที่อ่านเซลล์จากแล็บที่มีมาตรฐานดีที่สุดของเมืองไทย แต่หากจะตรวจก็ต้องจ่ายเงินซึ่งผู้ประกันตนก็ยอมจ่ายเงินเอง 700+ บาท ทั้งที่โรงพยาบาลไม่สามารถเก็บเงินซ้ำได้อีก

ทางโครงการตรวจคัดกรองได้ช่วยประสานงานกับ สปส. ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงสำนักงานสาขา ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2554 แต่หาคนรับผิดชอบคุณภาพการรักษาไม่พบ ระดับปฏิบัติการของ สปส.ไม่มีคนรู้ว่าใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้สะท้อนอะไร?ทั้งหมดเป็นข้อพิสูจน์ว่า สปส. ที่มีหมอเพียงแค่ 2 คน คือ ปลัดแรงงานในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม และรองเลขาธิการไม่สามารถจะดูแลการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตน 10 ล้านคนได้ การออกมาแก้ตัวของผู้บริหาร สปส.ที่ขอตรวจสอบก่อนว่าการรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยเครื่องดังกล่าว(ซึ่งมีราคาไม่แพง จัดหาไม่ยาก) เป็นเรื่องจำเป็นของแพทย์สูตินรีเวชหรือไม่ นับว่าเป็นการรู้ตัวที่ช้ามาก และ สปส.ไม่เคยแก้ปัญหาได้

นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงปัญหาการควบคุมคุณภาพหน่วยบริการสาธารณสุขของ สปส. ที่แม้จะกำหนดว่าต้องมีขนาด 100 เตียงขึ้นไปแต่ก็เป็น 100 เตียงที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพจริงจัง

การที่ สปส.ประกาศเมื่อวันที่26 เม.ย.2554 ขึ้นค่ารักษาโรคมะเร็งให้โรงพยาบาลที่รักษาเบิกจ่ายได้ตามจริง จากเดิมเพดาน 5 หมื่นบาทขึ้นไป เป็น 272,100 บาท จะมีส่วนดีหรือเสียเมื่อพิจารณาจากพื้นฐานเหตุการณ์ในครั้งนี้

โรคมะเร็งสามารถตรวจคัดกรองในระยะแรกและรักษาให้หายขาดได้ แต่หากระบบประกันสังคมหวังกำไรมากกว่าห่วงชีวิตคนสำนักงานประกันสังคมจึงเป็นหลุมดำที่ทำให้ผู้ประกันตนตกอยู่ในกับดักหลุมดำนั้น โดยที่ผ่านมาผู้บริหาร สปส.ไม่เคยยอมรับความจริง ผู้นำแรงงานบางคนก็ไม่เคยยอมรับความจริง ทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาล แถมได้รับบริการที่ไม่ดี

ปีที่ผ่านมา สปส.ถูกกดดันอย่างหนักกว่าจะปรับสิทธิประโยชน์จนเท่ากับ สปสช.ในบางเรื่องซึ่งทางออกของเรื่องนี้ง่ายมากคือ สปส.ต้องยอมรับว่าทำได้ไม่ดี ควรให้ สปสช.บริหารจัดการเรื่องการรักษาโรคจะดีและประหยัดงบประมาณมากกว่า

ที่สำคัญจากเหตุการณ์นี้ได้ค้นพบว่าเครือข่ายประกันสังคมเป็นผู้มีอิทธิพล มีโรงพยาบาลที่ปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงการรักษาอยู่มาก แต่ผู้ประกันตนไม่กล้าออกมาเรียกร้องเพราะกลัวเพื่อนๆผู้ประกันตนด้วยกันจะถูกกลั่นแกล้งจากโรงพยาบาล แต่ สปส.ก็มักจะอ้างว่าระบบเป็นแบบนี้ ปรับอะไรไม่ได้

ระบบอะไรทำให้ผู้ประกันตนต้องกลัวและถูกลิดรอนสิทธิเช่นนี้ ดังนั้นในโอกาสที่รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ3 กองทุนสุขภาพและกำลังจะขยายไปโรคเอดส์และโรคไต ขอสนับสนุนให้รัฐบาลลดความเหลื่อมล้ำโรคมะเร็งเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะโรงพยาบาล 100 เตียงของเอกชน ไม่ยอมรักษาระยะต้น และระยะลุกลามได้เอง ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลรัฐเกือบทั้งหมด

ดังนั้น มาตรการแยกโรคมะเร็งมาให้ สปสช.บริหารจัดการ น่าจะช่วยชีวิตคนได้อีกหลายคนที่ไม่ควรจะเสียไป เพราะความไร้ประสิทธิภาพของระบบเช่นที่ สปส.เป็นอยู่ในขณะนี้.

"โรคมะเร็งสามารถตรวจคัดกรองในระยะแรกและรักษาให้หายขาดได้ แต่หากระบบประกันสังคมหวังกำไรมากกว่าห่วงชีวิตคนสำนักงานประกันสังคมจึงเป็นหลุมดำที่ทำให้ผู้ประกันตนตกอยู่ในกับดักหลุมดำนั้น"

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 14 มิ.ย. 55