ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ครม.ไฟเขียวงบ 4.3 พันล้านแก้ไขปัญหามาบตาพุด 92 โครงการ ทั้งสิ่งแวดล้อม-โครงสร้างพื้นฐาน พร้อมอนุมัติงบเร่งด่วนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 34 โครงการกว่า 500 ล้านบาท

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรภาคตะวันออก เห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร ระยะเวลา 5 ปี (2555-2559) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยมีโครงการที่ต้องดำเนินงานกว่า 92 โครงการ วงเงินรวม 4,347 ล้านบาท ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาทั้งทางด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และงานบริหารจัดการ

"แผนที่เพิ่มเข้ามาจากเดิมจะมาเพิ่มใน 3 เรื่องเดิมที่มีอยู่ คือ การช่วยเหลือและการอพยพประชาชน การกู้สถานการณ์ที่เกิดเหตุให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยขอให้จังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น จ.ระยองและพระนครศรีอยุธยา กำหนดแผนพัฒนาจังหวัดไปสู่การเป็นพื้นที่สีเขียว ให้อุตสาหกรรมสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้กระทรวงมหาดไทยกลับไปดำเนินการวางผังเมืองมาบตาพุด ด้วยการแบ่งการจัดเขตพื้นที่ หรือการทำโซนนิ่งให้ชัดเจน ระหว่างพื้นที่สีเขียว พื้นที่ชุมชน และพื้นที่อุตสาหกรรม"

ทั้งนี้ในแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุด มี 8 กลุ่มโครงการ ได้แก่ 1.การลดมลพิษต่อเนื่องสู่สิ่งแวดล้อมสะอาด จำนวน 41 โครงการ วงเงิน 1,760 ล้านบาท 2.การยกระดับบริการสาธารณสุขเฉพาะโรคและคุณภาพชีวิต 25 โครงการ วงเงิน 936 ล้านบาท 3.การยกระดับคุณภาพการศึกษา 4 โครงการ วงเงิน 67 ล้านบาท 4.การพัฒนาสู่อุตสาหกรรมนิเวศน์ 2 โครงการ วงเงิน 11 ล้านบาท

5.การพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความหลากหลาย 4 โครงการ วงเงิน 27 ล้านบาท 6.การพัฒนาขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานและจัดสรรการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม 14 โครงการ วงเงิน 1,522 ล้านบาท 7.การส่งเสริมการใช้ผังเมืองรวมในการพัฒนาพื้นที่ 1 โครงการ วงเงิน 18 ล้านบาท และ 8.งานบริหารจัดการ 1 โครงการ วงเงิน 4 ล้านบาท

น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก และ 4 จังหวัด จำนวน 34 โครงการ วงเงิน 516.90 ล้านบาท ซึ่งมีความจำเป็น เร่งด่วนและสามารถดำเนินการได้ทันที โดยสำนักงบประมาณจะจัดสรรเงินงบกลางปี 2555 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการ ทั้งนี้โครงการ ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นโครงการปรับปรุง สิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่

 

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 20 มิ.ย. 55