ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จีอี เฮลท์แคร์เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ สร้างความต่าง-ขยายตลาด เล็งเพิ่มงบฯวิจัยและพัฒนาอีก 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 สินค้ากลุ่มอีโคแมจิเนชั่นโหนกระแสสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ด้านจีอีประเทศไทยครึ่งปีแรกชะลอตัว ลุ้นงบฯรัฐบาลดึงยอดทั้งปีโตตามเป้า

นายแอนเดรอส์ เวิลด์ รองประธานระดับโลก ธุรกิจอัลตราซาวนด์ จีอี เฮลท์แคร์ กล่าวในโอกาสที่เดินทางมาร่วมประชุมประจำปีอัลตราซาวนด์ระดับโลก ว่า แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของจีอี เฮลท์แคร์ มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทั้งเทคโนโลยีการถ่ายภาพการแพทย์ การวินิจฉัยโรคและการติดตามอาการผู้ป่วย การค้นคว้าเวชภัณฑ์ยา ภายใต้กลยุทธ์เฮลท์แมจิเนชั่น เพื่อใช้ขับเคลื่อนและดูแลรักษาสุขภาพที่ยั่งยืนทั่วโลก มุ่งส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี เพิ่มโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องไปกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและพลังงาน หรือภายใต้แนวคิดอีโคแมจิเนชั่น โดยบริษัทแม่ตั้งเป้าภายในปี 2558 จะเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้เป็น 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดการใช้พลังงานลง 50% ลดการใช้น้ำลง 25% และเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวกับอีโคแมจิเนชั่นเป็น 2 เท่า

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ 24 รายการ โดยเทคโนโลยีล่าสุดก็คือเครื่องอัลตราซาวนด์ขนาดพกพา เพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ก่อนเกิดโรค และทำได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งมีนโยบายมุ่งขยายธุรกิจอัลตราซาวนด์ไปยังตลาดใหม่ ๆ รวมถึงสแกนแบบ 3 มิติ ในเวลาที่สแกนจริง โดยเปิดตัวไปกลางปี 2554 ในยุโรปและสหรัฐ ได้รับการตอบรับดี มียอดขายมากกว่า 5,000 เครื่อง ปัจจุบันได้ขยายครอบคลุมเอเชีย-แปซิฟิกและอาเซียน รวมถึงประเทศไทย สำหรับไทยมองเห็นโอกาสขยายเครื่องอัลตรา ซาวนด์ดังกล่าว เนื่องจากประชากรต่างจังหวัดมีสัดส่วนสูง 60% จึงเป็นโอกาสแนะนำเครื่องไปตามสถานพยาบาลในต่างจังหวัด

"นโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ผู้ป่วยหันมาใช้สถานพยาบาลใกล้บ้าน เครื่องนี้สามารถตรวจวินิจฉัยอาการเบื้องต้นได้ พกพาสะดวก และตัวเครื่องมีราคาแตกต่างจากเครื่องอัลตราซาวนด์ขนาดปกติเฉลี่ย 5-10 เท่า"

สำหรับจีอี ประเทศไทย นายรุ่งรัตน์ ตรีรัตนกิตติกุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรกค่อนข้างชะลอตัว มาจากผลกระทบน้ำท่วมปลายปีที่ผ่านมา ทำให้การใช้งบฯของโรงพยาบาลรัฐชะงัก ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมก็มีการตัดสินใจที่ช้าลง ซึ่งสัดส่วนลูกค้าโรงพยาบาลรัฐมีมากถึง 60% เอกชน 40% อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในครึ่งปีหลังยังต้องรอดูงบประมาณของรัฐบาลที่จะไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ทั้งปีนี้ไม่มีการเติบโต ซึ่งบริษัทได้วางแผนการใช้จ่ายด้านบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และมองหาโอกาสในการขยายตลาดใหม่ ๆ ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก

ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 กรกฎาคม-1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง