ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดประชุมเพื่อกำหนดขอบเขตประเด็นการศึกษาโดยสาธารณะ (Public Scoping) เกี่ยวกับผลกระทบต่อการเข้าถึงยา จากข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-อียู  ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นทางไปรษณีย์และเวปไซด์ มาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม  และครั้งนี้เป็นการจัดรับฟังข้อคิดเห็นในรูปแบบการประชุมจากผู้แทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรภาคประชาชน ณ ห้องประชุมสานใจ 1 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข มีผู้เข้าร่วมประชุม 80 คน ที่ประชุมได้มีการอภิปรายข้อกังวลหลัก 5 ประเด็น ประกอบด้วย 

1. การยืดเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งคาดว่าอียูมีความต้องการให้ไทยคุ้มครองเพิ่มเติมให้แก่ผู้ทรงสิทธิ เพื่อชดเชยความล่าช้าในการยื่นขอรับสิทธิบัตรและรออนุญาตทะเบียนตำรับยา โดยจะขยายอายุสิทธิบัตรของบริษัทยาออกไปทำให้เกิดการผูกขาดตลาดยา 

2. การคุ้มครองข้อมูลยาที่ใช้เพื่อขออนุญาตให้วางตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดข้อมูลยา และเพิ่มต้นทุนของบริษัทผลิตยาชื่อสามัญ ที่จะสามารถผลิตยาได้ต่อเมื่อสิทธิบัตรยาต้นแบบหมดอายุลง เพราะต้องศึกษาความปลอดภัยและการศึกษาทางคลินิกซ้ำอีกครั้ง ทำให้ยาสามัญมาแข่งขันในตลาดช้าออกไปหรือไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้เลย  และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนหรือแก้ไขระเบียบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศไทยด้วย ซึ่งถ้ารัฐบาลไทยทำข้อตกลงนี้กับอียู เท่ากับว่าเราต้องให้สิทธินี้กับทุกประเทศเช่นเดียวกัน  เพราะจะเป็นการแก้ไขระบบการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญที่เคยมีอยู่ทั้งหมด

3. การผูกขาดข้อมูลข้อบ่งใช้ใหม่ ทำให้ขยายระยะเวลาการผูกขาดตลาดยาออกไป  

4. การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญา เกี่ยวกับสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ควรมีการศึกษาผลกระทบของสนธิสัญญาเหล่านั้นต่ออุตสาหกรรมการผลิตยาและการเข้าถึงยาเพิ่มเติม

5. การใช้มาตรการตรวจสอบ ณ จุดผ่านแดนเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการขนส่งยาข้ามประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะได้รับมอบอำนาจให้สามารถตรวจจับและยึดยาที่เพียงต้องสงสัยว่าจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ อาจส่งผลให้ยาชื่อสามัญที่ถูกกฎหมายต้องถูกยึดและเสียเวลาอยู่ที่คลังสินค้าแทนที่จะขนส่งไปถึงปลายทางเพื่อช่วยชีวิตประชาชน

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีการอภิปรายผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม เช่น

·       การคุ้มครองการลงทุน ซึ่งหากมีการประกาศใช้มาตรการยืดหยุ่นของ TRIPS เช่น มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา(CL) ก็อาจถูกตีความได้ว่าไม่คุ้มครองการลงทุนของผู้ประกอบการและรัฐอาจต้องจ่ายค่าชดเชยเทียบเท่ามูลค่าตลาดโดยคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม 

·       การเอาผิดกับบุคคลที่สามและ/หรือคนกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับคนที่เกี่ยวข้อง ในระบบช่องทางการค้าทั้งหมด ตั้งแต่การจัดส่งวัตถุดิบจนกระทั่งถึงการผลิตยาชื่อสามัญ 

 

กล่าวได้ว่า ข้อเสนอของอียูเป็นการให้ไทยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าข้อตกลงคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS Plus) ที่ทำไว้กับองค์การการค้าโลก ซึ่งมีสมาชิก 154 ประเทศ ที่กำหนดว่า การคุ้มครองสิทธิบัตรยามีอายุ 20 ปี แต่หากไทยทำข้อตกลง FTA กับอียู เท่ากับว่าจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาขยายออกไปอีก และตามข้อ 4 ในข้อตกลง TRIPS ระบุในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งแปลความได้ว่า หากประเทศไทยให้สิทธินี้กับประเทศใดแล้ว ต้องให้สิทธิดังกล่าวกับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกอื่นๆด้วย

ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องหาวิธีว่า ทำอย่างไรให้การเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับอียู มีการพิจารณาถึงผลกระทบทั้งจากคนที่ได้และเสียกับข้อตกลงนี้อย่างชัดเจน

ข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้จะนำไปผนวกกับข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งจะเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจนถึง วันที่ 31 สิงหาคม 2555 โดยเข้าไปที่เว็บไซด์ www.fda.moph.go.th  และโปรดดำเนินการ ดังนี้   

- ดาวน์โหลด       1) รายงาน (ร่าง)ผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยา  และ  2) แบบแสดงความคิดเห็น 

- ส่งความคิดเห็นของท่านกลับมายัง E-mail: parinda.ais@gmail.com หรือส่งความคิดเห็นทางไปรษณีย์มาที่ ภญ.สิตานันท์ พูนผลทรัพย์ สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี 11000