ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภาษีบาป ร้อยละ 2 ต่อปีกลายเป็นประ- เด็นร้อนหลังจากรัฐบาลปรับขึ้นภาษีเหล้า...บุหรี่ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า...จุดหมายปลายทางภาษีบาปถูกนำไปใช้อย่างได้ผล สมประโยชน์กี่มากน้อย

ข้อมูลวันนี้ สสส.ได้รับงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ในอัตราปีละ 2%...เฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาท การปรับขึ้นภาษีบาปครั้งล่าประเมินกันว่างบจะเพิ่มขึ้นอีกราวๆปีละ 200 ล้านบาท

ปกติแล้วงบเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาท...คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของรายจ่ายสุขภาพทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ใช้เป็นงบบริหาร ร้อยละ 6

โครงการส่วนใหญ่ในปีล่าสุดที่ สสส.อนุมัติสนับสนุน เป็นโครงการรณรงค์เรื่องเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ ออกกำลังกาย อาหารเพื่อสุขภาวะ เรียกว่า...ปัจจัยเสี่ยงหลัก อยู่ที่ร้อยละ 28

ส่วนที่เหลือเป็นการสร้างเสริมสุขภาพด้านอื่นๆ อาทิ สุขภาวะเด็ก สุขภาวะชุมชน สร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ

สำหรับสัดส่วนผู้รับทุน...มูลนิธิ องค์กรการกุศล ร้อยละ 28, หน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 24, หน่วยงานเอกชน ร้อยละ 18, สถานศึกษา ร้อยละ 16, คณะบุคคล ร้อยละ 11, องค์กรวิชาชีพ ร้อยละ 3

ข้อสงสัยที่กล่าวถึงกันมาเนิ่นนาน สสส.มักเอื้อให้กลุ่มเอ็นจีโอพวกพ้อง หน้าเก่า...เจ้าเดิม ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ระบบพิจารณาโครงการมีการกลั่นกรอง 3 ชั้น ซึ่งถือว่าเยอะจริงๆ กว่าจะผ่านได้ แล้วผู้จัดการก็ไม่มีสิทธิ์จะให้หรือไม่ให้

เริ่มจากเสนอโครงการเข้ามา จะมีการพิจารณาทบทวนโครงการโดยคณะกรรมการอิสระ ถ้าผ่านก็เข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดที่มีอยู่ 7 ชุด ตามความชำนาญแต่ละด้าน...ถ้าเป็นโครงการเล็กอาจไม่ต้องผ่านการพิจารณาในขั้นนี้ ขั้นสุดท้ายจริงๆก็เข้าสู่บอร์ดใหญ่พิจารณาอีกต่อหนึ่ง

 “ประเด็นสำคัญใช่แค่การพิจารณา หากแต่โครงการไหนอนุมัติแล้ว ต้องมีการทำงานที่คืบหน้าแลกงบสนับสนุน ไม่ต่างกับผู้รับเหมาก่อสร้าง งานเสร็จ 3 เดือนก็แบ่งจ่ายไปทีละงวด...ไม่มีผลงานก็หยุดจ่าย”

สสส.ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชาสังคม มีระบบการตรวจสอบการทำงานทุกขั้นตอน โดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบภายใน และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

จริงๆแล้วปมปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความสงสัยอาจมาจากงบที่นำมาใช้เมื่อเทียบกับผลที่ได้รับว่ามีความคุ้มค่าแค่ไหน คุณหมอกฤษดา ฉายภาพสถานการณ์สุขภาพเชิงตั้งคำถามว่า วันนี้คนไทยดื่มเหล้ามากหรือน้อยลง

คำตอบคือ...คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมดื่มสุราในปริมาณที่ลดลง หมายถึงว่าดื่มในระดับที่ไม่เกิดอันตราย ในอัตราบริโภคแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

ย้อนไปปี 2548 ช่วงที่ สสส.ทำงาน 5 ปี สถิติลดลงชัดเจน... นักดื่มดื่มในอัตราที่ลดลง แต่กระนั้นเมื่อเทียบในประเทศแถบอาเซียน...เรายังสูงอยู่

ข้อมูลนี้อาจจะไปในทิศทางเดียวกันกับตัวเลขสภาพัฒน์ คนไทยจ่ายค่าเหล้าน้อยลง บวกกับอีกตัวอย่างอย่างเล็กๆ เมื่อก่อน...ช่วงที่มีการรับน้องใหม่ มีข่าวตีกันเพราะความเมา แต่ทุกวันนี้หายไปเยอะ นั่นเพราะ สสส.เข้าไปร่วมจัดการ เสริมกิจกรรมที่ดีระหว่างรับน้อง

ตัวเลขจากการเก็บข้อมูล ปี 49...ร้อยละ 50 การรับน้องยังมีการดื่มเหล้า พอมาถึงปีล่าสุด เหลือแค่ร้อยละ 9 เท่านั้น ต่อเนื่องไปถึงงานศพก็ลดลง รวมๆแล้วถือว่าการรณรงค์เรื่องลดการดื่มเหล้าไปในทางบวก

แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรามีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ในกลุ่มเด็ก...เยาวชน คุณหมอกฤษดา ชี้ว่า น่าจะมาจากแรงกระตุ้นจากธุรกิจน้ำเมาที่พยายามหาวิธีเจาะถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกทิศทางที่จะทำได้ แต่ที่แน่ๆ ที่เห็นชัด เยาวชน...ยังซื้อเหล้าได้ง่าย

อีกเรื่องที่พูดถึงกันมาก สสส.รณรงค์อุบัติเหตุ ลดเจ็บตาย เหตุไฉน...เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ทีไร ทุบสถิติบ่อยเหลือเกิน พูดไปก็เหมือนจะเป็นข้อแก้ตัว แต่ก็ต้องพูดเพราะเป็นเรื่องจริง

 “คงต้องดูกันตลอดทั้งปี จะพบว่าสถิติอุบัติเหตุเจ็บ...ตาย ลดลงตลอด”

ที่ให้ดูทั้งปีก็เหมือนคนเล่นหุ้น ต้องดูในภาพรวม จับเฉพาะช่วงก็แค่ผิวเผินเก็งกำไรได้ยาก อาจจะกลายเป็นแมลงเม่า

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่เกิดขึ้นเทียบกับช่วงที่ศูนย์นี้ยังไม่เกิด แค่การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องก็เห็นความต่างที่ชัดเจนอยู่แล้ว สสส.เป็นส่วนประสานทำให้เป็นระบบทำให้การรณรงค์ลดอุบัติเหตุ เจ็บ ตาย ได้ผลมากขึ้น

กรมทางหลวงชนบทศึกษาประเมินมูลค่าต้นทุนความเสียหายของผู้เสียชีวิต 1 ราย พบว่ามีมูลค่าต้นทุนทางเศรษฐกิจ 4.8 ล้านบาท เมื่อเทียบผู้เสียชีวิตระหว่างปี 2551-2552 ลดลง 550 คน...ก็เท่ากับว่าลดการสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 2,640 ล้านบาท มูลค่าที่ว่านี้ยังไม่นับรวมผู้บาดเจ็บและผู้พิการอีกเป็นจำนวนมาก

ไล่เรียงมาถึงอีกพระเอกตัวจริง “บุหรี่”...สถิติช่วงที่ผ่านมา 20 ปีอัตราสูบลดลง แต่มาระยะ 2 ปีหลัง ยังคงตัวและมีเค้าว่าจะเพิ่มขึ้น คำถามมีว่าเกิดอะไรขึ้น สสส.ควรจะทบทวนมาตรการอะไรหรือไม่?

คุณหมอกฤษดา เน้นน้ำเสียง... “3 ปีที่ผ่านมา รัฐไม่ขึ้นภาษีบุหรี่...ผนวกกับค่าเงินถูกลง บุหรี่ซองละ 80 บาท ก็เหมือนถูกขึ้นตามไปด้วย การขึ้นภาษีครั้งนี้น่าจะมีผลมาก

อีกปัญหาน่าจะมาจากการสูบยาเส้น...บุหรี่มวนเอง โดยเฉพาะคนชนบท ที่สื่อที่ทำเข้าไม่ถึง คงต้องเปลี่ยนรูปแบบ...ใช้กิจกรรมลงสู่ชุมชนมากขึ้น”

ทั้งเหล้า...บุหรี่ กลุ่มเป้าหมายหลักก็คือเด็ก...เยาวชน พ่อค้าเหล้า ยาสูบยุคนี้ก็โหมกันน่าดูผ่านกิจกรรมการตลาดในคราบกีฬา ดนตรี ด้วยงบประมาณที่มหาศาล

 “แต่ละแบรนด์น่าจะมีงบอย่างน้อยเป็น 1,000 ล้านบาทต่อปี”

สสส.จะทุ่มอย่างไรก็คงสู้ไม่ไหว...ที่บอกกันว่า สสส.ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ใช้เงินโหมโฆษณาเห็นหนาตา คุณหมอกฤษดา บอกว่า เราใช้งบแค่ 140 ล้าน ที่เห็นโฆษณาว่ามีเยอะ ออกถี่ก็เพราะมีวิธีการทำงานที่แตกต่าง

 “เราไม่ได้ประมูล เอาบริษัทมาแข่งราคาสู้กัน แต่เราใช้ความร่วมมือมากๆ ทั้งจากบริษัทผู้ผลิตโฆษณา...ค่าผลิต คิดแคมเปญ ที่อื่นทำเป็นหลักล้าน...เราทำแค่หลักแสน”

โฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ ก็มีหลายช่องให้ความร่วมมือ ลดครึ่งราคา 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเห็นว่าเป็นโฆษณาเพื่อสังคม...ช่วยเหลือกันแบบวิน...วิน และบางแห่งนอกจากลดราคาแล้วยังแถมให้ด้วย

แน่นอนว่าเมื่อดูที่ตัวเลข โฆษณาความถี่ที่เท่าๆกัน ถ้าภาคธุรกิจต้องจ่าย 40 ล้านบาท...เราก็จ่ายแค่ 20 ล้านบาท ยิ่งแคมเปญไหนโดนใจก็ยิ่งโดดเด่น...จะยิ่งไปไกล

นอกจากการทำงานที่กล่าวไปแล้วเรายังนำมาใช้ในการพัฒนาเชิงระบบในเรื่องต่างๆ ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายไปเฉพาะที่เด็กและเยาวชน เครือข่ายภาคท้องถิ่นที่มีอยู่วันนี้ก็กว่า 1,000 ตำบล เป็นภาคีระยะยาวในอนาคต ซึ่ง สสส.มีแผนสนับสนุนต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรณรงค์ด้านต่างๆอย่างรอบคอบ

ถึงตรงนี้อาจสรุปได้ว่า เงินภาษีบาปกว่า 3,000 ล้าน เอาอยู่สู้เหล้า บุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่มารุมเร้าสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทยได้แน่ เพียงแต่อย่ามองผิวเผินว่า สสส.เป็นแค่แหล่งทุน อย่าคิดหรือเชื่อในสิ่งที่ฟังมา ตรงไหนเป็นปัญหาต้องดูที่ตัวเลข

 “เงินทุกบาททุกสตางค์ ต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการประเมินทุกปี...ไม่ต้องห่วง ถ้าผู้จัดการสอบตกก็ถูกออก สสส.จะอยู่ได้ ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับผลงานและความโปร่งใส” ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสสส. กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 3 ก.ย.2555