ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยา การจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติและกำหนดราคากลางยา รวมถึงการให้ความเห็นเรื่องการใช้ยาแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คือภารกิจหลักของ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2551

คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบขึ้นจาก 2 ส่วน หนึ่งคือกรรมการโดยตำแหน่ง 28 คนอาทิ นายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข (สธ.)ปลัดกระทรวง 7 กระทรวง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา อธิบดี 4 กรม ผู้บริหารกองทุนประกันสุขภาพ นายกสภาวิชาชีพ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทย์

อีกหนึ่งคือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการคัดเลือกตัวบุคคลแต่เพียงผู้เดียว

ตามขั้นตอนแล้วทันทีที่ได้คณะกรรมการครบทั้ง 38 คนจะมีการประชุมเพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและ 2 ใน 7 คณะอนุกรรมการที่มีความสำคัญคือ อนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยาและ อนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ

นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงยาราคาแพงได้ เพราะมีคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติทำหน้าที่ต่อรองราคายากับบริษัทยาจนได้ราคาที่รัฐบาลสามารถจ่ายได้ ที่สำคัญคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ทำงานด้วยระบบที่โปร่งใสและปราศจากผลประโยชน์อื่นโดยเฉพาะเงินใต้โต๊ะ

"คณะอนุกรรมการฯ ต้องทำงานหนักในการต่อรองกับบริษัทยาต่างประเทศ ให้ลดราคายาลงจนถึงจุดที่มีความคุ้มค่าตามเศรษฐานะ และความสามารถในการจ่ายของรัฐบาลไทย เห็นได้จากยารักษาโรคตับอักเสบซี (Hepatitis C) ซึ่งประเทศไทยซื้อยาได้ถูกที่สุดในโลก คือจากคอร์สละ 2.4 แสนบาท เหลือเพียง 7 หมื่นบาทเท่านั้น"นพ.พิสนธิ์ ระบุชัดถึงประสิทธิภาพของคณะอนุกรรมการฯ

นพ.พิสนธิ์ อธิบายอีกว่า ตามหลักการแล้วระบบการต่อรองราคายาไม่ได้ทำให้ผู้ใดเสียประโยชน์ เนื่องจากประชาชนสามารถใช้ยาราคาแพงได้ รัฐบาลประหยัดงบประมาณ บริษัทยาสามารถขายยาได้มากขึ้น (ขายยาให้กับผู้ป่วยบัตรทองและประกันสังคม รวม 57 ล้านคน) แทนที่จะขายให้เฉพาะผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ (5 ล้านคน) หรือผู้ที่มีกำลังจ่ายในโรงพยาบาลเอกชน

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้ปฏิบัติหน้าที่มาจนครบวาระ 3 ปี นั่นหมายถึง คณะอนุกรรมการทุกชุดต้องพ้นสภาพและคณะกรรมการชุดใหญ่จะเหลือเพียงกรรมการโดยตำแหน่ง 28 คน

มีการคาดการณ์กันว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน ภายในเดือนก.ย.นี้

ปรากฏรายชื่อเบื้องต้นได้แก่ 1.ยุทธ โพธารามิก 2.จำรูญ มีขนอน 3.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล 4.ทวี เลาหพันธ์ 5.ธีรลักษณ์ สุทธเสถียร 6.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร 7.ปานเทพ รัตนากร 8.สุชัย เจริญรัตนกุล 9.คณิศ แสงสุพรรณ 10.กายสิทธิ์ พิศวงปราการ

ระหว่างที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ อยู่ในสภาวะ "สุญญากาศ"มีความพยายามจัดปรับอำนาจใหม่ โดยโอนย้าย 2 คณะอนุกรรมการฯ ข้างต้นไปอยู่ภายใต้ร่มของ คณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เท่ากับว่าคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองชุด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการ "ต่อรองราคา" กับบริษัทยาข้ามชาติ และเป็นผู้"กำหนดราคากลางยา" ในการจัดซื้อ รวมถึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะคัดเลือกยาลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ นอกจากจะถูกแต่งตั้งใหม่ยกชุดแล้ว ยังเปลี่ยนสายบังคับบัญชาขึ้นตรงกับคณะกรรมการชุดใหม่

จากนี้ไปจึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะราคายาเกี่ยวโยงกับสุขภาพของคนทั้งชาติ ต้องอิสระจากผลประโยชน์แอบแฝงและปราศจากวาระซ่อนเร้นทุกชนิด

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 ก.ย. 2555