ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักวิชาการด้านประชากร ศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการอภิปรายเรื่อง เกิดน้อยอายุยืน ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 ว่า ตั้งแต่ปี 2525 ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านประชากร จากอัตราเกิดสูง ตายสูง เป็นอัตราการเกิดต่ำตายต่ำ ทำให้โครงสร้างของประชากรเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยอายุเฉลี่ยของประชากรในช่วง 50 ปีนี้ จากอายุเฉลี่ย 50 ปี เพิ่มเป็นชายมีอายุเฉลี่ย 70 ปี หญิงอายุเฉลี่ย 73 ปี โดยตั้งแต่ปี 2506-2526 เรียกว่าเป็นรุ่นเกิดล้าน คือ มีการเกิดเฉลี่ยเกินล้านคนต่อปี ทำให้คนกลุ่มนี้จะเป็นคลื่นประชากรกลุ่มใหญ่ที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุในช่วง 10-20 ปีต่อจากนี้ ทำให้ไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า จากโครงสร้างประชากรที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น ทำให้ประชากรวัยแรงงานจะลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มที่เข้าสู่วัยสูงอายุ ยังมีสถานะยากจนจำนวนมาก ทำให้จำเป็นต้องวางแผนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องกำลังแรงงานในอนาคตด้วย โดยการเพิ่มทักษะและความสามารถให้กับแรงงาน โดยจำเป็นต้องสร้างทรัพยากรรุ่นใหม่ ให้มีคุณภาพตั้งแต่ในครรภ์มารดา เช่น เพิ่มสัดส่วนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สร้างความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ ส่วนกลุ่มสูงอายุ ต้องเตรียมพร้อมในเรื่องการมีสวัสดิการ ที่ยั่งยืนด้วย

"ผลกระทบเมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุ พบว่า ประชากร รุ่นเกิดล้าน เป็นประชากรที่มีกำลังบริโภคมหาศาล เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะทำให้กำลังการบริโภคลดลงอย่างมาก ในขณะ ที่ประชากรหลังรุ่นเกิดล้านมีความต้องการสูงกว่ารายได้ ทำให้การออมลดลง ซึ่งการศึกษาโครงสร้างประชากรจะ นำไปสู่การวางแผนการแก้ปัญหาเหล่านี้ในอนาคต" นาง สุวรรณีกล่าว

--ข่าวสด ฉบับวันที่ 20 ก.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง