ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อสม.หวั่น สธ.จัดงบซื้อเครื่องวัดความดัน1.4แสนไร้มาตรฐาน-คุณภาพต่ำเหตุราคาถูก ห่วงคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานความดันกระทบรักษาชี้บางจังหวัดจัดซื้อไม่ได้ เหตุบริษัทตัวแทนจำหน่ายไม่เข้าร่วมประมูล ขณะที่ "วิทยา" สั่งย้ำเรื่องคุณภาพ "สบส."มั่นใจราคา 900 บาท เครื่องมือใช้งานได้  สรุปประเมินปลายเดือนนี้

ความคืบหน้ากระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อเครื่องวัดความดันระบบดิจิตอลหมู่บ้านละ 2 เครื่องใน 72,900 หมู่บ้านทั่วประเทศรวม1.4 แสนเครื่องโดยกำหนดสเปคเครื่องละ 900 บาทโดยใช้งบประมาณ 130 ล้านบาทเพื่อให้อสม.ดูแลชาวบ้าน

นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (อสม.) กล่าวว่าโครงการดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุข(สธ)ได้มอบให้ทางจังหวัดเป็น ผู้ดำเนินการจัดซื้อเอง โดยกำหนดสเปก จัดซื้อมาจากส่วนกลางแล้ว พร้อมงบประมาณอยู่ที่ 900 บาทต่อเครื่อง ซึ่งจากการพูดคุยกับประธาน อสม.แต่ละจังหวัดทั่วประเทศประมาณ7พันหมู่บ้าน เขาบอกว่าการจัดซื้อไม่เป็นปัญหาในจังหวัดใหญ่ๆที่มีจำนวนหมู่บ้านจำนวนมากเพราะมีบริษัทเครื่องมือแพทย์เข้าเสนอประมูลราคา แต่จะมีปัญหาในจังหวัดเล็กๆ อย่างสมุทรสงคราม สมุทรสาคร เป็นต้น ที่มีหมู่บ้านไม่มาก จำนวนเครื่องจึงน้อยทำให้ไม่สามารถจัดซื้อได้

"ในส่วนของจังหวัดลพบุรีที่ผมอยู่นี้มีหมู่บ้านประมาณ 1,000 แห่ง จำนวนการจัดซื้อเครื่องวัดความดันอยู่ที่ 2,000 เครื่อง จึงมีบริษัทที่เข้าร่วมประมูล และได้ดำเนินการเป็นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทที่ได้นำเข้าเครื่องวัดความดันจากประเทศสหรัฐฯ "

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ต้องบอกว่า อสม.เราคงไม่รู้เรื่องคุณภาพแต่หากได้ที่มีมาตรฐานก็จะส่งผลดี เพราะเราทำหน้าที่ในการคัดกรองเท่านั้น

หวั่นปัญหาคุณภาพเครื่อง

ด้าน นายจำรัส คำรอด ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา  กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อ ซึ่งเพื่อความไม่โปร่งใสได้มีการเชิญคนนอกเข้าร่วมเพิ่มอีก 2 คน โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมประมูลขายเครื่องวัดความดันดิจิตอล 2-3 แห่ง ในจำนวนนี้มีบริษัทที่นำเข้าเครื่องทั้งจากจีนแดงและสหรัฐฯ เสนอราคาที่ใกล้เคียงกัน คือเครื่องละ 900 บาท  "ผมได้เสนอขอให้ซื้อจากบริษัทที่นำเข้าเครื่องจากสหรัฐฯ เพราะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่ภายหลังทราบว่า บริษัทที่ประมูลได้เป็นเครื่องนำเข้าจากจีน ราคา 578 บาท โดยมีงบคืนกระทรวงประมาณ 600,000 บาท "

นายจำรัส กล่าวว่า เครื่องวัดความดันระบบดิจิตอล โดยปกติทั่วไปที่ทางเราเคยจัดซื้อจะตกอยู่ที่เครื่องละประมาณ 1,500-2,000 บาทขึ้นไป แต่ในการจัดซื้อเครื่องวัดความดันในครั้งนี้ยอมรับว่าเป็นการจัดซื้อในราคาที่ถูกมากๆ จนรู้สึกแปลกใจ คือเพียยงเครื่องละ 900 บาทเท่านั้น ทำให้ข้องใจเรื่องของคุณภาพของเครื่องที่จะได้ ความแม่นยำในการตรวจวัด

"การประมูลจัดซื้อเป็นแค่การพิจารณาจากเอกสารเท่านั้น ไม่มีการนำเครื่องดิจิตอลของแต่ละบริษัทมาแสดงให้ดู ซึ่งจ.ฉะเชิงเทรามีทั้งหมด 900 หมู่บ้าน ใช้งบประมาณจัดซื้ออยู่ที่ 1.7 ล้านบาทจึงอยากได้เครื่องที่มีมาตรฐานคุณภาพที่ดี"

อุดรฯไม่มีบริษัทเสนอประมูล

ขณะที่ นายบุญทอง บุญประเสริฐ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี (อสม.อุดรธานี) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศจัดซื้อเครื่องวัดความดันดิจิตอล ตามที่กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้จัดซื้อ ราคาเครื่องละ 900 บาท จำนวน 4,000 เครื่อง ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดเสนอประมูลราคาเข้ามา อุดรธานียังไม่มีบริษัทเสนอประมูลเพราะจังหวัดให้งบ อบจ.จัดซื้อกระเป๋า อสม. ที่มีเครื่องมือที่จำเป็นและเครื่องวัดความดันที่กำหนดงบจัดซื้อ 3,200 บาท ต่างจากงบที่กระทรวงสาธารณสุขให้มาพร้อมกำหนดสเปกเดียวกัน อาทิ เครื่องดิจิตอล ใช้ได้ทั้งระบบไฟฟ้าและชาต์แบตเตอรี่ ความคลาดเคลื่อนการวัดไม่เกิน 5% มี มอก. พร้อมรับประกันเครื่อง 1 ปี

"เท่าที่พูดคุยกับประธาน อสม.ด้วยกัน พบว่ามีหลายจังหวัดที่จัดซื้อไม่ได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่ได้รับงบจาก อบจ.ในการจัดซื้อกระเป๋าเครื่องมือ อสม. อย่าง จ.สระบุรี ราชบุรี และโคราช เป็นต้น ซึ่งหลายบริษัทบอกว่า สเปกเครื่องที่กำหนดนั้นสูงเกิน 900 บาท ไม่สามารถนำเสนอได้ เพราะราคาส่งตามสเปกดังกล่าวก็อยู่ที่ 2,500 บาทแล้ว และเท่าที่ทราบก็คงมีแต่เครื่องก็อปปี้ที่ผลิตจากจีน ใช้ไฟฟ้าไม่ได้ และไม่มีเครื่องหมาย มอก." ประธาน อสม.อุดรธานี กล่าว

เขาบอกว่าได้หารือไปยังส่วนกลางกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งหากไม่สามารถจัดซื้อได้ คงต้องให้ทางส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและส่งมอบให้ทางจังหวัดภายหลังเอง

สธ.สั่งเข้มคุณภาพเครื่องตรวจ

ด้าน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการจัดซื้อเครื่องวัดความดันให้ อสม.นี้ เป็นการจัดซื้อของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าราคากลางจัดซื้อเป็นราคาที่ต่ำไปและเกรงว่าเครื่องที่ได้จะไม่ได้มาตรฐานนั้น เรื่องนี้สำนักงานปลัดไม่ได้ดำเนินการ แต่มอบเป็นอำนาจกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและคงจัดการกันเอง

"ได้สั่งย้ำกำชับไปแล้ว ทั้งนี้ทราบว่าการจัดซื้อ สบส.ให้แต่ละจังหวัดดำเนินการกันเอง โดยในจังหวัดที่จัดซื้อไม่ได้ตามระเบียงคงต้องส่งงบประมาณกลับมาที่ส่วนกลาง"

ชี้เครื่อง 900 บาทเพียงพอ

ขณะที่ นพ.สุวัช เซียซิริวัฒนา รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า งบประมาณที่ส่งให้จังหวัดจัดซื้อเครื่องวัดความดันให้กับ อสม. เพื่อใช้คัดกรองผู้ป่วยก่อนส่งต่อไปยังสถานพยาบาล ซึ่งกำหนดราคาเครื่องละไม่เกิน 900 บาท คิดว่าเป็นราคาที่เพียงพอต่อการจัดซื้อแล้ว เพราะด้านเทคนิคไม่ใช่เครื่องมือที่ซับซ้อนมาก และหากมีการจัดซื้อครั้งละมากๆ ก็น่าจะลดราคาลงได้

ส่วนเรื่องมาตรฐานการประมวลผลของเครื่อง เชื่อว่าบริษัทผู้แทนจำหน่ายก่อนจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ในประเทศ คงต้องได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เครื่องวัดความดันอาจจะมีมาตรฐานที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้วัดความดันได้

นพ.สุวัช กล่าวต่อว่า อย่างที่บอกว่าเป็นการบริหารจัดการของทางจังหวัด คาดว่าประมาณสิ้นเดือนกันยายนนี้น่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน

แพทย์หวั่นคุณภาพกระทบรักษา

ผศ.นพ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ แพทย์ประจำหน่ายโรคหัวใจและ หลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในกรณีที่เครื่องวัดความดันไม่ได้มาตรฐาน หน่วยการตรวจวัดมีความคลาดเคลื่อน โดยให้ค่าความดันที่สูงหรือต่ำเกินไป จะส่งผลต่อการวินิจฉัยโรค การรักษา ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ได้รับยาที่เกินหรือขาดไป  อีกทั้งยังส่งผลถึงการดูแลตนเองของตัวผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าหลังกินยาหรือดูแลสุขภาพแล้ว อาการที่เป็นอยู่ดีขึ้นหรือแย่ลงหรือไม่ ซึ่งรวมไปถึง อสม.เองที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

ทั้งนี้เครื่องวัดความดันโดยทั่วไปจะต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานจากทางประเทศอังกฤษ ยุโรป หรือสหรัฐฯ หรือต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐของไทย มีค่าบวกลบไม่เกิด 5 มิลลิเมตรของเครื่องวัดปรอท

"ที่ผ่านมายอมรับว่า ในบ้านเรามีเครื่องวัดความดันไม่ได้มาตรฐานอยู่มาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับทางกรมการแพทย์เพื่อดูแลปัญหานี้ โดยจะกำหนดให้เครื่องวัดความดันที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์ก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและติดตามการรักษาอย่างถูกต้อง" ผศ.นพ.สมเกียรติ์ กล่าว

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 กันยายน 2555