ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเผยความคืบหน้าขั้นตอนเพิ่มค่าป่วยการ อสม. 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน รอขั้นตอนหลังเลือกตั้ง เหตุต้องมีพ.ร.บ.งบประมาณฯ ขณะเดียวกันหลังถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่นไม่ส่งผลกระทบการทำงาน อสม. ล่าสุดให้สสอ.ดูแล อสม.แทนรพ.สต. แล้วมีผลทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่  5 เมษายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เป็น 2,000 บาท ว่า  หลังจากผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในการเพิ่มค่าป่วยการให้แก่ อสม. จำนวน 2,000 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น ซึ่งในมติ ครม.ได้ให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเชิญส่วนที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม ขณะเดียวกันต้องมีการส่งร่างคำของบประมาณไปที่สำนักงบฯ ซึ่งได้ส่งไปแล้ว โดยคูณด้วยจำนวน อสม.ที่กระทรวงฯ รับผิดชอบ ขั้นตอนจากนี้ต้องรอให้เปิดสภาฯก่อน พอมีกรรมาธิการงบประมาณ จึงจะไปชี้แจงในชั้นนั้นอีกครั้ง ซึ่งต้องรอหลังเลือกตั้งจึงจะพิจารณาได้

เงินค่าป่วยการอสม.รอปีงบประมาณ 67 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า เงินค่าป่วยการ อสม. จะได้อีกครั้งต้องรองบประมาณปีหน้าหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า เขียนไว้ว่า ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไปที่จะเพิ่มค่าป่วยการให้อสม.

“เราขอเพิ่มไป 2 ส่วน ทั้งงบค่าป่วยการ และจำนวน อสม. เนื่องจาก อสม.ที่ทำงานอยู่มีประมาณกว่า 1,070,000 คน แต่ไม่ได้เบิกประมาณกว่า 30,000 คน ได้เบิกอยู่ประมาณ 1,030,000 กว่าคน ซึ่งส่วนที่ยังไม่ได้เบิกได้ขอเข้าไปด้วย ซึ่งได้มีการสื่อสารไปแล้วว่า ค่าป่วยการผ่านมติครม.แล้ว แต่จะได้หรือไม่ต้องรอให้มี พ.ร.บ.งบประมาณฯ ออกมา ซึ่งเราจะมีการสื่อสารเรื่องนี้อีกครั้ง” นพ.สุระ กล่าว

นพ.สุระ กล่าวย้ำว่า ในระเบียบของ อสม. เขียนว่า อัตราค่าป่วยการให้เป็นไปตามครม. หรือกฎหมายกำหนด ดังนั้น ค่าป่วยการจึงต้องเข้าครม. ซึ่งหลังจากได้แล้วก็ต้องรอกฎหมาย รอพ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งน่าจะประมาณปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป

 

มอบ สสอ.ดูแล อสม.

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปท้องถิ่น กระทบต่อการทำงานของ อสม. หรือไม่ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหา อสม.ยังทำงานเหมือนเดิม ช่วยงานกับรพ.สต.เช่นเดิม เพียงแต่เมื่อ รพ.สต.มีภาระงานมากขึ้น ก็ไม่อยากเพิ่มภาระงานในเรื่องการรับรอง อสม. จึงได้ตัดขั้นตอนการรับรอง โดยให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) มาดำเนินการตรงนี้แทน เรียกว่า เป็นการตัดขั้นตอน และให้ สสอ.เป็นผู้รับหน้าที่รับรอง ทำการอบรม อสม. แทน ซึ่งมีผลทั้งประเทศ ไม่ได้เฉพาะแค่ถ่ายโอนเท่านั้น เพราะงานรพ.สต.ที่ไม่ได้ถ่ายโอนก็มีภาระงานเยอะเช่นกัน โดยเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สรุปคือ จากนี้สสอ.จะเป็นผู้ดูแล อสม. แทน

แฟ้มภาพ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org