ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช'พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงการคลัง งดสั่งจ่าย'ยารักษาอาการข้อเสื่อม' ให้ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ยอมรับอาจกระทบกลุ่มผู้สูงอายุ

หลังจากกระทรวงการคลังมีหนังสือคำสั่งแจ้งหัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ ห้ามข้าราชการและผู้ที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต หรือยารักษาอาการข้อเสื่อม และห้ามแพทย์ผู้รักษาออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกเงินจากส่วนราชการต้นสังกัด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งล่าสุดทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างสร้างความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์นั้น

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนบริการ ประธานคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า ยากลูโคซามีนซัลเฟตใช้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ ราคาประมาณซองละ 20-30 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ในแต่ละเดือน รพ.จุฬาฯ มีการจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟตให้กับผู้ป่วยหลายร้อยราย แต่มีหลักการจ่ายยาโดยประเมินจากอาการของผู้ป่วยว่าเหมาะสมที่จะใช้ยากลูโคซามีนซัลเฟตหรือไม่ ยืนยันว่าแพทย์ไม่ได้จ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเสื่อมทุกคนแน่นอน ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบกับผู้ป่วยบางกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้แน่นอน เพราะในอนาคตหากจำเป็นต้องใช้จะต้องจ่ายค่ายาเอง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า กระทรวงการคลังเคยทำหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ 3 ครั้ง โดยยืดหยุ่นมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้มีมติชัดเจนว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ยาดังกล่าวจะไม่อยู่ในระบบเบิกจ่ายอีกต่อไป เว้นแต่หากผู้ป่วยต้องการใช้จะต้องจ่ายเอง ขณะนี้ รพ.รามาอยู่ระหว่างจัดทำแผ่นพับให้ความรู้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ส่วนแนวทางการรักษาอื่นๆ นั้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ และว่ายังมียาตัวอื่นๆ รวมทั้งการบริหารข้อเข่าก็ช่วยรักษาได้เช่นกัน

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ยากลูโคซามีนซัลเฟตเป็นยาที่มีการควบคุมการเบิกค่ายามาตั้งแต่ปี 2554 และว่าก่อนที่จะมีการสั่งห้ามเบิกจ่ายยาดังกล่าว ในแต่ละเดือนมีผู้ป่วยรับยาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านซอง เพราะผู้ป่วยต้องกินอย่างน้อยวันละ 2-4 ซอง ดังนั้น หากจะมีการสั่งห้ามเบิกอย่างจริงจัง คาดว่าไม่น่ามีผลกระทบ เนื่องจากทั้งคนไข้และโรงพยาบาลมีการปรับตัวมาปีกว่าแล้ว

ขณะที่ ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เรื่องนี้นับเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ ก็ไม่เคยได้รับยานี้มาก่อน เพราะยานี้ไม่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ

ส่วนนายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการใช้ยานี้ไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาทต่อปี และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว

--มติชน ฉบับวันที่ 13 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--