ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'อลิอันซ์ 'แนะเร่งรับมือผู้สูงวัยรีบปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญอยู่กลุ่มเสี่ยงอัตราวัยชราเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวจากบริษัท อลิอันซ์อยุธยา ประกันชีวิต เปิดเผยว่า ทางกลุ่มอลิอันซ์ได้เปิดเผยผลวิจัย พบว่าประเทศไทยต้องรีบปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญเพื่อรับมือกับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยกำลังเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงที่พบว่าประชากรเริ่มเข้าสู่วัยชราอย่างรวดเร็ว และกำลังเป็นภัยต่อระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของไทยได้ถูกปรับลดความสำคัญลง

ทั้งนี้ จากดัชนี Allianz Global Investors Pension Sustainability Index (PSI) ซึ่งรายงานความยั่งยืนของระบบบำเหน็จบำนาญแห่งชาติโดยเมื่อปี2554 ได้จัดอันดับให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ลดลงจากเมื่อปี2552 ที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 34

อย่างไรก็ตาม ไทยจึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ควรมีการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญโดยเร็ว สืบเนื่องจากอัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรา (OAD : Old-age dependency ratio) ที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้น และการปรับอายุเกษียณให้ต่ำลงอยู่ที่ 55 ปี ในขณะที่อายุไขเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 74.4 ปี ซึ่งแม้จะมีความพยายามอย่างมาก แต่ระบบบำเหน็จบำนาญก็ยังไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรอยู่ดี

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี2540 และลุกลามไปทั่วโลก แต่ไทยกลับมีความก้าวหน้าที่ดีในการจัดตั้งและขยายระบบบำเหน็จบำนาญสมัยใหม่ แต่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เคยตั้งข้อสังเกตในปี2552 ว่า ในขณะที่ไทยมีระบบการป้องกันที่ดีในการพัฒนาสังคม แต่โครงสร้างที่เปราะบางและกรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่อ่อนแอทำให้เกิดปัญหา ส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจนในต่างจังหวัดกลับกลายเป็นตัวปัญหาหนึ่ง โครงการของรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายจากเงินบำนาญสังคม "ฉุกเฉิน" ที่มีอยู่สำหรับผู้สูงอายุดังกล่าว แต่มีการจ่ายผลประโยชน์เพียง 3 แสนรายเท่านั้น คิดเป็น 6% ของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เงินบำนาญที่จ่ายให้ผู้สูงอายุในแต่ละเดือนไม่เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม ในขณะที่กองทุนในปัจจุบันยังคงเกินดุลอยู่ เพราะยังไม่ได้เริ่มต้นการชำระคืน ซึ่งย้อนกลับไปในปี 2543 ธนาคารโลกคำนวณว่าอัตราการจ่ายเงินสมทบควรจะอยู่ที่ 13% จึงจะเพียงพอกับความต้องการของเงินบำนาญ แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 7% เท่านั้น

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 ตุลาคม 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง