ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยไม่มีท่าทีจะลดลงได้ง่ายๆ เห็นได้จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งในปี 2553 พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างโรคความดันโลหิตสูง 360,658 ราย มีอัตราป่วยสูงสุดเท่ากับ 566.17 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือโรคเบาหวาน 176,685 ราย อัตราป่วย 277.36 ต่อประชากรแสนคน โรคหัวใจขาดเลือด 38,176 ราย อัตราป่วย 59.93 ต่อประชากรแสนคน โรคเรื้อรังทางเดินหายใจส่วนกลาง 39,017 ราย อัตราป่วย 61.25 ต่อประชากรแสนคน และโรคหลอดเลือดสมอง 32,210 ราย อัตราป่วย 50.56 ต่อประชากรแสนคน รวมทั้ง 5 โรค มีผู้ป่วยจำนวน 646,746 ราย

หากดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ระหว่างปี 2549-2553 พบผู้ป่วยสะสมโรคเรื้อรังทั้ง 5 โรค มีจำนวน 3,093,546 ราย โดยโรคความดันโลหิตสูงมีอัตราความชุกสูงสุด พบผู้ป่วยจำนวน 1,725,719 ราย ซึ่งทุกโรคมีอัตราความชุกของผู้ป่วยสะสมเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อดูข้อมูลอัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากรในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญ พบว่า โรคความดันโลหิตสูง จาก 3.8 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2549 เพิ่มเป็น 3.9 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2553 โรคหัวใจขาดเลือดจาก 19.4 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2549 เพิ่มเป็น 20.5 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2553 โรคหลอดเลือดสมองใหญ่ (อัมพฤกษ์ อัมพาต) จาก 20.6 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 27.5 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2553 จะเห็นได้ว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคทั้ง 3 โรคเหล่านี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยยังไม่ทั่วถึงมากนัก โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด ที่มักไม่ชอบเข้าโรงพยาบาลหากไม่มีอาการหนักหนาสาหัสจริงๆ เทศบาลตำบลเขมราฐ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี จึงได้ตระหนักเห็นความสำคัญถึงข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษาของประชาชน เพราะโรงพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรองรับประชาชนได้เพียงพอ

อีกทั้ง อ.เขมราฐ มีพื้นที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ที่มักมีคนลาวเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลที่นี่ด้วย จึงได้ดำเนินโครงการโรงพยาบาล 1,500 เตียง เป็นโมเดลการให้คนในชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน

น.ส.สุนันทา เครือสีดา พยาบาลชุมชนที่ได้รับทุนการศึกษาจากเทศบาลเขมราฐให้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เล่าให้ฟังว่า โครงการโรงพยาบาล 1,500 เตียง เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2549 จากความร่วมมือของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 100 คน ที่ร่วมกับโรงพยาบาลเขมราฐ ในการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยเชิงรุก โดยมี อสม.คอยดูแลสอดส่องสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งจะออกตรวจเยี่ยมทุกวันหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป ทำให้ทุกครัวเรือนสามารถเป็นโรงพยาบาลภายในบ้านได้ เพราะที่ ต.เขมราฐ มีประชาชนประมาณ 1,470 ครัวเรือน หากเจ็บป่วยก็ไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถพักอยู่ที่โรงพยาบาลได้ตลอด อาทิ ผู้ป่วยโรคอัมพาต ที่ต้องได้รับการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยที่ต้องมีการทำความสะอาดแผลทุกวัน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยที่ต้องดูแล 29 ครัวเรือน

"เราทราบดีว่าผู้ป่วยในชุมชน โดยเฉพาะ โรคเรื้อรังไม่สะดวกเดินทางไปโรงพยาบาลได้ ทุกวัน อย่างบางคนที่เป็นโรคเบาหวานและมักจะมีแผล ซึ่งก็ต้องได้รับการล้างแผลทุกวัน โครงการนี้จึงมุ่งหวังให้คนในชุมชนเข้าถึงการรักษาได้แม้อยู่ที่บ้าน หากเจ็บป่วยหรือมีอาการใดๆ ก็เพียงบอก อสม.ไม่ต้องลำบากหารถหาราไปถึงมือหมอ ถ้าอาการหนักเกินกว่าที่ อสม.จะดูแลได้ ก็จะประสานหมอให้มาตรวจถึงที่บ้าน" น.ส.สุนันทากล่าว

เธอ และ อสม.ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งสำคัญที่ได้รับจากการคอยช่วยเหลือดูแลคนในชุมชน คือ "ความอบอุ่นใจ" เสมือนได้ดูแลญาติผู้ใหญ่ของตัวเอง ถือเป็นการดูแลด้านสาธารณสุขที่เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง จนมีหน่วยงานต่างๆ จากจังหวัดอื่น เดินทางมาเยี่ยมชมและศึกษาโครงการอีกด้วย

เทศบาลตำบลเขมราฐ เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และเทศบาลยังเป็นหนึ่งในโครงการตำบลสุขภาวะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ทุกภาคส่วนต่างมีส่วนร่วมในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน

โมเดลดีๆ แบบนี้หากชุมชนใดสนใจก็ลองนำไปปรับใช้กัน

ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 27 ตุลาคม 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง