ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในห้วงที่ไทยปรับทิศทางการส่งเสริมท่องเที่ยวจากมิติ "จำนวน" มาสู่การปั้ม "รายได้" ให้ถึง 2 ล้านล้านบาทในปี  2558 พบว่า มี 2 เซ็กเมนท์สำคัญ ที่ถูกปั้นให้เป็นพระเอกในการดึงเม็ดเงินจากเศรษฐี ตะวันตกและเอเชีย นั่นคือ "เมดิคัลทัวร์" และ  "ชอปปิง" โดยฝ่ายสินค้าและธุรกิจการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เตรียมกลยุทธ์ต่างๆ ไว้รองรับการแข่งขัน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

จากการเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมงาน เวิลด์ สปา แอนด์ เวลล์-บีอิ้ง คอนเวนชั่น 2012 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้โครงการ  "การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย" ยังพบว่า บริการทางการแพทย์ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด คือ ศัลยกรรมตกแต่ง ทันตกรรม เวชศาสตร์ชะลอวัย โดยแบ่งความสนใจของตลาดเป้าหมายหลักๆ ที่กำลังขยายตัวเป็นดาวรุ่ง ได้แก่ จีน ซึ่งมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงและปัจจุบันเดินทางไปทำศัลยกรรมที่ไต้หวันมากที่สุด ในราคาค่าบริการที่ใกล้เคียงกับไทย ปัจจุบันไทยยังมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน JCI ของสหรัฐ มากที่สุดในภูมิภาคกว่า 18 โรง ขณะที่สิงคโปร์ มี 14 โรง

ขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราเติบโตสูงสุดด้านเมดิคัลทัวร์ในสิงคโปร์ นิยมการรักษาตามแนวทางแพทย์แผนตะวันออก และมักเดินทางเข้าร่วมโปรแกรมลด น้ำหนักในไทย โดยเฉลี่ยจำนวนวันที่ต่างชาติจะเข้าพำนักเพื่อการทำศัลยกรรมพลาสติกอยู่ที่ 1-3 สัปดาห์ ส่วนการรักษาโรคจะใช้เวลาถึง  1-6 เดือน และคนไข้แต่ละรายเฉลี่ยจะใช้จ่าย ถึง 1.3 แสนบาทต่อคน

ตัวเลขดังกล่าวทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยพยายามจะหาจุดขายเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อจากตลาดนี้ อย่าง สิงคโปร์ ได้วางตำแหน่งการตลาดเป็น "ศูนย์กลางการรักษาโรคซับซ้อน" เกาหลีใต้ ตั้งเป้าเป็น "ศูนย์กลางศัลยกรรมความงาม" ขณะที่มาเลเซีย ประกาศตัวเองเป็น "อิสลามิค เมดิล ทัวริซึ่ม" เพื่อหวังจะโกยตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสลามด้วยกัน

"วิไลวรรณ ทวิชศรี" รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. เปิดเผยว่า  ในการเตรียมรับมือเพื่อแข่งขันครั้งนี้ ไทยจะชูจุดเด่น "ความเป็นไทย" (Thainess) สำหรับ "บริการหลังการรักษา" เพราะเป็นเอกลักษณ์ซึ่งเพื่อนบ้านไม่สามารถเลียนแบบได้ ที่ผ่านมาการดูแลและบริการของไทยก็ครองใจคนไข้ชาวต่างชาติมาตลอด ซึ่งเมื่อประกอบกับการมีแหล่งท่องเที่ยว มีรีสอร์ทที่มาตรฐานบริการสูงให้เลือกหลากหลาย ทำให้เชื่อว่าไทยสามารถแข่งขันได้

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวทีในการแข่งขัน ในปี 2556 จะเตรียมจัดงานจับคู่การซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการด้านสุขภาพของไทยราว 100 รายพบกับกลุ่มบริษัทประกันภัย เอเยนต์ด้านท่องเที่ยวเชิงแพทย์และสุขภาพจากทั่วโลก ที่มีศักยภาพนำลูกค้ามาจริง ในรูปแบบ Speed Dating ให้เอเยนต์จากต่างประเทศที่ ททท. เชิญมานั่งประจำที่แล้วเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยหมุนเวียนเจรจานำเสนอข้อมูลกันเป็นรอบๆ ตามเวลาที่กำหนด:จับมือ"ซียูพี"กวาดนักช้อปจีน

ในส่วนตลาดชอปปิง ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่จะดึงเม็ดเงินมหาศาลให้ไทยนั้น ปีนี้ ททท. เตรียมรุกครั้งใหญ่ โดยขยายไปที่กลุ่มกำลังซื้อดาวรุ่งอย่าง "จีน" ระหว่างนี้อยู่ระหว่างหารือกับ  "ไชน่า ยูเนียน เพย์เมนท์" หรือ ซียูพี ผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุด และปัจจุบันมีร้านค้าในไทยมากกว่า 50,000 แห่งที่เป็นพันธมิตรกับบัตรดังกล่าว เข้ามาร่วมกิจกรรม "อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์ เซลล์" เพิ่มอีกราย หลังจากที่จับมือกับ วีซ่า และ มาสเตอร์การ์ด เรียบร้อยแล้ว

ททท.ประเมินความร่วมมือกับซียูพี ครั้งนี้ว่าจะทำให้ไทยเป็นแม่เหล็กอีกแห่งของชาวจีนในเอเชีย หลังจากที่ ซียูพี ซึ่งมีฐานสมาชิกบัตรกว่า 3,000 ล้านใบในจีน เคยมา เปิดตลาดในไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาแล้ว โดยจะเริ่มนำเสนอกลุ่มสินค้าอื่นๆ นอกจากสินค้าแบรนด์เนม เพื่อดึงเม็ดเงินเพิ่มขึ้นด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีฐานขยายตัวสูง เนื่องจากพบว่าฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนที่มีเงินในบัญชีสูง และใช้บัตรในลักษณะเดบิตไม่ใช่แค่เป็นเครดิตวงเงิน ที่ผ่านมาคิงพาวเวอร์ ดิวตี้ ฟรี เคยรายงานด้วยว่า มีนักช้อปชาวจีน ที่รูดเงินผ่านบัตรสำหรับชอปปิงครั้งเดียวถึง  23 ล้านบาท

นอกจากนี้ พฤติกรรมเดินทางของชาวจีน ที่จะเดินทางครั้งใหญ่ 4 ครั้งต่อปี จึงอาจจะปรับระยะเวลาของโครงการร่วมกับร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ จัดมหกรรมลดราคาเพื่อรองรับตลาดจีนขึ้นมาเป็นพิเศษในช่วงที่ตรง กับทุกเทศกาลของตลาดจีน

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง