ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิจัยชี้คนไทยอย่างน้อย 1 ใน 5 เคยใช้กัญชา ส่วนใหญ่ใช้เพื่อนันทนาการ หลัง "ปลดล็อกกัญชา" มีจุดจำหน่ายกัญชา 7,747 จุด พบใน กทม. 1,122 จุด และนนทบุรี 1,114 จุด ปชช. รู้ว่าเสพติดได้ แต่ไม่ทราบว่า กัญชามีผลต่อสุขภาพ

ที่ห้องประชุมการะเกด โรงแรมแมนดาริน เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีนำเสนอผลการวิจัยในประเด็น “ผลกระทบทางสังคมและสุขภาพ จากการประเมินและกำกับติดตามนโยบายกัญชา” ซึ่งเป็นข้อมูลวิชาการส่วนหนึ่งภายใต้ชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ว่าจะเห็นประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกเรื่องการใช้กัญชา แต่หลังจากการปลดล็อกในเชิงนโยบาย จำเป็นต้องมีองค์ความรู้มาประกบคู่ขนานกับการดำเนินงานตามนโยบาย เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการดังกล่าว มีความสำคัญต่อการกำกับ ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อใช้ในการพิจารณาการกำหนดกฎหมายหรือการดำเนินมาตรการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ทางการแพทย์ควบคู่กับความปลอดภัยจากการใช้กัญชาเป็นสำคัญ 

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย ให้ข้อมูลงานวิจัยว่า ชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา เป็นชุดโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ ผลกระทบ และมาตรการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลังจากมีการประกาศนโยบายกัญชาของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2565 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แต่ละด้านในช่วง 1-2 ปีแรก ภายหลังมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ กรอบแนวคิดการประเมินฯ ในประเด็นผลกระทบด้านต่าง ๆ เช่น ผลกระทบทางสุขภาพ ผลกระทบด้านอาชญากรรม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และผลกระทบอื่น ๆ 

ชุดโครงการนี้เริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือนหลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุให้กัญชาทุกส่วน และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติดมีผลบังคับใช้ (วันที่ 9 มิถุนายน 2565) ผลการศึกษาเบื้องต้นของสี่โครงการแรกสรุปได้ว่า ประชาชนไทยทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนจำนวนมากในปี พ.ศ.2566-67 เคยใช้กัญชา แต่ส่วนใหญ่จะใช้ในรูปแบบอาหาร เครื่องดื่ม หรือน้ำมันที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด มากกว่าการใช้แบบสูบ โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่ยอมรับว่า เป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านนันทนาการมากกว่าการใช้เพื่อรักษาโรค 

ร้านขายกัญชาเกิดขึ้นทั้งบนดินและออนไลน์ มีจุดจำหน่ายกัญชา 7,747 จุด

จากผลการประเมินและกำกับติดตามนโยบายกัญชา นับตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะกัญชา พบว่า สถานการณ์ด้านการจำหน่ายกัญชาในประเทศไทย ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 มีจุดจำหน่ายกัญชา 7,747 จุด โดยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่มีจุดจำหน่าย 5,600 จุด พบมากใน กทม. 1,122 จุด และนนทบุรี 1,114 จุด 

การขยายตัวของตลาดกัญชา ส่งผลให้เกิดการเข้าถึงการซื้อและใช้กัญชามากขึ้น คนไทยอย่างน้อย 1 ใน 4 คน สามารถเข้าถึงจุดจำหน่ายกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชาอย่างน้อยหนึ่งจุดในรัศมี 400 เมตร รอบบ้าน หรือใช้เวลาเดินไม่เกิน 5 นาที และ 1 ใน 11 คน อยู่ในครัวเรือนที่มีการปลูกกัญชาในบ้าน นอกจากจุดจำหน่ายกัญชาแล้ว ยังมีการจำหน่ายและการโฆษณากัญชาในช่องทางออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์มต่าง ๆ 

1 ใน 5 เคยใช้กัญชา เยาวชนนอกสถานศึกษา 47.60% เคยลองแล้ว

ประชาชนไทยอย่างน้อย 1 ใน 5 เคยใช้กัญชา และส่วนใหญ่ใช้เพื่อนันทนาการ โดยประชาชนวัยผู้ใหญ่เพศชาย 20-35% และเพศหญิง 10-15% ใช้กัญชาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นความชุกรวมประมาณ 20% ของการใช้กัญชาทั้งหมด

อัตราการใช้กัญชาของวัยรุ่นและเยาวชนทั่วประเทศในปี พ.ศ.2566 นักเรียนมัธยมศึกษา 11.8% นักศึกษาระดับปริญญาตรี 17.1% เยาวชนนอกสถานศึกษา 47.60% โดยเยาวชนมักใช้กัญชาร่วมกับสารเสพติดอื่น เช่น สุรา ยาสูบ กระท่อม และสาเหตุอันดับต้นของการเริ่มใช้กัญชาในเยาวชนยังคงเป็นความอยากรู้อยากลอง 

คนไทยมองว่า กัญชา น่ารังเกียจน้อยกว่ายาเสพติดชนิดอื่น

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าวต่อว่า จากข้อมูลวิจัยในด้านมุมมองของสังคมต่อกัญชา “การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในสื่อสังคมออนไลน์ และข่าวอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในหนังสือพิมพ์ ก่อนและหลังการออกนโยบายกัญชา” ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัยดังกล่าว พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงไป โดยช่วงปี 2561-2562 มีมุมมองไปในทิศทาง กัญชาเป็นยาวิเศษและเป็นพืชเศรษฐกิจ 

รู้ว่า  กัญชาเสพติดได้ แต่ไม่ทราบว่า กัญชามีผลต่อสุขภาพ

ต่อมาช่วงปี 2564-2566 ประชาชนไทยเกือบครึ่งหนึ่งมองว่า กัญชาเป็นสารเสพติดที่น่ารังเกียจน้อยกว่ายาเสพติดผิดกฎหมายชนิดอื่น โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ทราบว่ากัญชาเสพติดได้ แต่มีเพียงส่วนน้อยที่ทราบว่ากัญชามีผลต่อสมอง หัวใจ และสุขภาพจิต นอกจากนี้ ยังพบผลกระทบของการใช้กัญชา โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นหลังปลดล็อกกัญชา รวมทั้งการใช้กัญชาไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้เอง แต่ยังรบกวนชีวิตของคนอื่นในครอบครัว เพื่อนบ้าน และเจ้าพนักงานฝ่ายต่าง ๆ

จะเห็นได้ว่า ประชาชนทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนรับรู้ความเสี่ยงของการใช้กัญชาลดลง ถึงแม้จะทราบว่า กัญชาเสพติดได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า กัญชามีผลต่อสุขภาพ 

สถานการณ์ด้านผลกระทบ

ความสงบเรียบร้อยของสังคม

  • เด็กและเยาวชนยืนรอซื้อและสูบกัญชาในที่สาธารณะ และในเวลาเรียนหนังสือ
  • เด็กประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้นสูบกัญชาร่วมกันในโรงเรียน โดยประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ใช้สูบเอง พร้อมกับถ่ายวิดีโอโพสต์ลงโซเชียล
  • เด็กนักเรียนหญิงเมากัญชา
  • นักเรียนข่มขู่ครูที่ห้ามไม่ให้สูบกัญชา
  • วัยรุ่นคลั่งหลังเสพกัญชา ผู้ปกครองต้องขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าช่วยเหลือ

ความเดือดร้อนรำคาญของเพื่อนบ้านและชุมชน

  • ควันจากการสูบกัญชารบกวนเพื่อนบ้าน
  • ผู้ร่วมอาศัยในชุมชนสูดดมละอองเกสรจากกัญชาจนมีอาการเจ็บป่วย เพราะปริมาณการปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยและทดลองในชุมชนที่มากเกินไป
  • ผู้ได้รับผลกระทบไม่ทราบว่าจะร้องทุกข์ต่อผู้ใด ต้องพยายามหาทางแก้ปัญหาเอง เพราะผลิตภัณฑ์กัญชาหรือการบริโภคกัญชาไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
  • กรณีเกิดอุบัติเหตุจราจรและสงสัยว่า มีการเสพกัญชาด้วยนั้น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถส่งตรวจกัญชาได้ เพราะกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายแล้ว

ภาระงานของหน่วยบริการสุขภาพและสังคม

  • ผู้เสพติดกัญชาและจำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะสร้างความเดือดร้อนและเป็นภาระให้กับครอบครัวและสังคมมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ 
  • สถานบำบัดหลายแห่งมีสถานที่ไม่เพียงพอต่อการให้การรักษาพยาบาล
  • เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์มีปริมาณไม่เพียงพอ

ครอบครัวยุ่งเหยิง

  • ว่าที่คุณพ่อเสพติดกัญชา สูบกัญชาในบ้านและบกพร่องต่อหน้าที่การงานรุนแรงขึ้นทุกวัน (ภรรยาตั้งครรภ์ลูกคนแรก)
  • ลูกชายวัยยี่สิบกว่าที่ต้องออกจากโรงเรียน เพราะไม่สามารถเรียนหนังสือ และยังไม่สามารถทำการงานใดๆ ได้ มีเพียงคุณแม่ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวดูแล
  • ผู้ป่วยเสพติดกัญชาที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจนต้องถูกจับกุมเพื่อส่งโรงพยาบาล เพิ่มความเสี่ยงและอันตรายต่อเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลในการให้การดูแลรักษาพยาบาล ตลอดจนผู้ป่วยอื่น ๆ ที่อยู่ในสถานบริการเดียวกัน

ข้อเสนอแนะ

  1. จำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชาอย่างครอบคลุมและชัดเจน และมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด ควรมีการขึ้นทะเบียนผู้ได้รับอนุญาตปลูกและจำหน่าย เพื่อป้องกันการเข้าถึงที่ง่ายเกินไป ซึ่งอาจมีผลให้ใช้กัญชาทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้ หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้อื่นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน
  2. ให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน และรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ว่า กัญชาไม่ใช่สินค้าธรรมดาทั่วไป แต่เป็นสารเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสมอง จิตใจ ร่างกายและสังคม ไม่ควรสนับสนุนให้คนมองกัญชาเป็นสินค้าธรรมดาด้วยการเปิดโอกาสให้มีการขาย โฆษณา ผลิตภัณฑ์กัญชา ขนม/อาหารได้ทั่วไป หรือเสพได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ
  3. ให้ความรู้แก่พ่อแม่หรือประชาชนทั่วไปในเรื่องการเก็บอาหาร ขนม เครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมให้พ้นมือเด็กและแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรใช้กัญชาต่อหน้าเด็ก
  4. ให้ความสำคัญต่อการป้องกันการใช้กัญชาในเด็ก วัยรุ่น และเยาวชนอย่างเต็มที่ และป้องกันการใช้กัญชาแบบเสี่ยงและแบบอันตราย และลดผลกระทบจากการใช้จากการใช้กัญชาในผู้ใหญ่อย่างจริงจัง โดยใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาทุกชนิด โดยการกำหนดลักษณะบุคคล สถานที่ เวลา และรูปแบบวิธีการขายและเสพกัญชา โดยเฉพาะการห้ามเสพในที่สาธารณะหรือที่ ๆ ควันกัญชาอาจรบกวนผู้อื่นได้ การห้ามโฆษณา และทำการตลาดทุกประเภทรวมทั้งการให้ทุนอุปถัมภ์และการทำ CSR ที่แฝงการโฆษณา โดยเฉพาะการโฆษณาที่มุ่งเป้าเชิญชวนเด็กและเยาวชน
  5. พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดูแลเยียวยา บำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากการใช้กัญชา และเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความสงบเรียบร้อย และสวัสดิการของสังคม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะที่เหมาะสมและทันสมัย และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนโยบายและหลักฐานทางวิชาการ รวมทั้งพัฒนาระบบดูแลรักษาทั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากการใช้กัญชาของตนเอง และระบบดูแลรักษาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชา หรือกัญชาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้อื่น