ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข วุฒิสภา มีความเห็นต่อประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำโดยระบุว่าความแตกต่างของ 3 กองทุนเป็นเรื่องที่ดีในด้านการแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องอยู่ในหลัก "แตกต่างอย่างเป็นธรรม เหลื่อมล้ำอย่างมีนัย"

คณะอนุกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วว่างบประมาณด้านบริการสุขภาพในปัจจุบันไม่เพียงพอ การจัดสรรงบประมาณที่น้อยส่งผลถึงคุณภาพบริการสุขภาพที่ด้อย

สำหรับงบประมาณที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอขอเพิ่ม โดยอ้างอิงตัวเลขทางวิชาการถือว่าเหมาะสม แต่เมื่อมีการปรับลดและให้คงที่ 3 ปี ถือว่างบประมาณด้านสุขภาพไม่เพียงพอในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การกำหนดงบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยการตั้งมาตรฐานต้องควบคู่กับความเท่าเทียมขึ้นอยู่กับการกำหนดสิทธิประโยชน์หลัก (Core Benefit Package)

ทั้งนี้ หากต้องการความเท่าเทียมในงบประมาณที่จำกัด จะมีผลกระทบต่อมาตรฐาน

ขณะเดียวกันงบหลักประกันสุขภาพของหน่วยบริการที่ผ่านมา ถูกบดบังความไม่เพียงพอจากปัจจัยอื่นอาทิ การนำเงินบำรุงเก่าของโรงพยาบาลมาชดเชยเอง การใช้เงินจากกองทุนอื่นมาช่วย การให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย อย่างไรก็ดีเมื่อศึกษาติดตามจนถึงปัจจุบันพบว่าปัจจัยเหล่านั้นกลับลดลง ประกอบกับการควบคุมงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ

คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงเสนอให้เพิ่มงบประมาณหลักประกันสุขภาพให้หน่วยบริการอย่างเพียงพอ

สำหรับมาตรการของกรมบัญชีกลางที่ปรับลดสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ คณะอนุกรรมาธิการฯไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการที่รุนแรง รวมถึงการควบคุมสิทธิด้านรักษาพยาบาลด้วยการกำหนด 1 โรคเรื้อรัง 1 โรงพยาบาล

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555