ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"เพราะความไม่รู้ เข้าใจผิด และประมาทยังคงถูกฝังหัวอยู่กับผู้คนในสังคม ถึงวันนี้ ปัญหาโรคเอดส์ จึงกลายเป็น "หนังม้วนเก่า" ที่ถูกฉายซ้าแล้วซ้าเล่า อย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบ"

จากสถิติของโครงการโรคเอดสแห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ปีพ.ศ.2554 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 34.2 ล้านคน เพิ่มจากช่วง 10 ปีก่อนประมาณ 5 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2.5 ล้านคน เฉลี่ยติดเพิ่มนาทีละ 5 คน เสียชีวิต 1.7 ล้านคน เฉลี่ย 3 คนต่อนาที  สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ในปี 2555 นี้ จะมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์รวมกว่า 1 ล้านคน โดยมีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์รายใหม่เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 คน ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ติดเชื้อจากกรณี "คลาสสิก" การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ร้อยละ 62 อยู่ในกลุ่มชายรักชาย พนักงานขายบริการทางเพศ ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด

ที่สำคัญ วัยรุ่นเพศหญิงมีอัตราป่วยเอดส์สูงกว่าเพศชาย 2 ต่อ 1

ข้อมูลเหล่านี้ เป็นหนึ่งในหัวตะปูจำนวนนับไม่ถ้วนที่ตอกย้ำถึงความเรื้อรัง ของปัญหาที่ต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ประเทศไทยรู้จักกับ เชื้อเอชไอวี (HIV : Human Immunodeficiency Virus) แม้จะมีการล้อมรั้วคลอดมาตรการป้องกันในด้านต่างๆ เพื่อให้เป้า "ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ" โดยเฉพาะในวัยรุ่น และผู้ใหญ่จะลดลง 2 ใน 3 เด็กแรกเกิดติดเชื้อน้อยกว่าร้อยละ 2 ผู้ติดเชื้อทุกคนได้รับการดูแลรักษาเท่าเทียม หรือกระทั่งจำนวนผู้ติดเชื้อถูกเลือกปฏิบัติหรือการละเมิดสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ถึงอย่างนั้น... ก็ไม่ได้หมายความว่า อุดมคติดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

"อย่าตีตราเรา ว่าเป็นภาระของสังคมเพียงเพราะเราติดเชื้อ เพราะภาระของสังคมมันอยู่ที่พฤติกรรม และการกระทำของ คนแต่ละคน ไม่ว่าจะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ" ถ้อยคำตัดพ้อของใครบางคนในมุมของ "ผู้ติดเชื้อ" ที่มีให้เห็นอยู่เสมอบนสังคมออนไลน์

"คนโง่เท่านั้น ที่จะบอกว่าผู้ติดเชื้อเป็นภาระของสังคม" เขาย้ำ  ทัศนคติไม่ว่าจะเป็นจากฟากสังคม หรือฝั่งผู้ติดเชื้อ เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหา ที่แก้ไม่ตก จะทำอย่างไรเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ HIV แนบเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตผู้คน ในขณะเดียวกัน ก็คงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะ "ผู้ติดเชื้อ" ที่มีต่อสังคมได้ และ "เอดส์" ก็ยังมีอะไรมากกว่าที่คิดอีกเยอะรับรู้ แต่ไม่เข้าใจ

"เด็กเป็นเอดส์ เรียนไปทำไมให้เปลือง เดี๋ยวก็ตายแล้ว" คำพูดทำนองนี้ อภิวัฒน์ กวางแก้วประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย บอกว่า แว่วมาเข้าหูให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรกับมายาคติของคนจำนวนไม่น้อยที่ยังมองว่า การทุ่มงบประมาณด้านการรักษาให้กับผู้มีเชื้อ HIV นั้นถือเป็นความสูญเปล่า และสิ้นเปลือง เพราะเดี๋ยวก็ตายอยู่ดี!

ทั้งๆ ที่เอชไอวีอยู่ในเมืองไทย 30 ปี แต่น่าแปลกที่ความรู้ ความเข้าใจของคนในสังคมไทยเกี่ยวกับ เอชไอวียังผิดเพี้ยนอยู่มาก โดยเฉพาะ ความคิดที่ว่า เป็นแล้วต้องตาย ซึ่งไม่เป็นความจริง ที่สำคัญคือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า "เอดส์รักษาได้" หากผู้ติดเชื้อทานยาต้านไวรัสเพื่อหยุด หรือ ชะลอการเพิ่มจำนวนของไวรัสเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพราะเอดส์ก็ไม่ต่างอะไรกับโรคเรื้อรังอย่างหนึ่งที่สามารถควบคุมได้โดยการใช้ยา

อย่างตัวอภิวัฒน์เอง เขาทานยาต้านมาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว โดยยืนยันว่า ไม่เคยเจ็บป่วยเลย สามารถมีชีวิตตามปกติเหมือนคนทั่วไปได้ ทำงาน และเป็นกำลังของประเทศได้

ที่แน่ๆ คือ หากไม่ประสบอุบัติเหตุหรืออะไรที่นอกเหนือการควบคุมเสียก่อน เขาบอกว่า ตัวเองมีสิทธิได้ 'แก่ตาย' อย่างแน่นอน

"มันเป็นความเชื่อฝังหัวตั้งแต่ตอนที่ โรคเอดส์เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยใหม่ๆ หน่วยงานรัฐอยากจะขู่ให้คนกลัว ให้มีความระมัดระวังต่อโรค ก็โหมโฆษณาเลยว่า โรคเอดส์เป็นแล้วตาย ขณะที่เมื่อผู้ป่วยไปหาหมอ หมอก็บอกว่า กลับบ้านไปเถอะ รักษาไม่ได้หรอก"

นั่นคือ เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ขณะนั้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ และเชื้อเอชไอวี ในไทยยังอยู่ในขั้น ที่อาจจะเรียกได้ว่า 'ติดลบ' จนส่งผลให้ในช่วง 5-6 ปีแรกมีการติดเชื้อ รวมทั้งยอดผู้ป่วย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะไม่รู้ถึงวิธีการป้องกัน ตลอดจนขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ สิ่งที่ลุกลามบานปลาย ไม่ได้เป็นเพียงจำนวนผู้ติดเชื้อเท่านั้น หากแต่ ความคิด มายาคติในเชิงลบเกี่ยวกับโรคเอดส์ เชื้อเอชไอวี และผู้ติดเชื้อ ในความคิดของผู้คนในสังคมกลับ "ติดลบ" หนักยิ่งกว่า จนมองข้าม "ความเสี่ยง" ที่แท้จริงไป

"คนจำนวนไม่น้อย มองว่าเอดส์เป็นเรื่องของ 'คนอื่น' เป็นเรื่องของหญิงขายบริการ เรื่องของชายรักชาย หรือเรื่องของคนติดยา แต่จริงๆ เอดส์คือเรื่องของทุกคน คือสิทธิและหน้าที่ของคนทุกคน"

อภิวัฒน์เอ่ยสวนขึ้นทันควัน หลังถูกถามถึงประเด็นความรับผิดชอบของผู้ติดเชื้อที่อาจจะแพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ โดยหลายความคิดผ่านตัวหนังสือในสังคมออนไลน์ ซึ่ง "ขาดความรับผิดชอบยิ่งกว่า" ในสายตาของคนที่มีเอชไอวีเป็นเพื่อนมากว่า 20 ปีอย่างผู้ชายคนนี้

ทั้งถูกตัดสิน และตีตรา แถมยังถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นกลไกหลักในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ คือ สิ่งที่ผู้ติดเชื้อต้องประสบอยู่ในทุกวันนี้

แต่สังคมไทยยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่อง 'ความเสี่ยง' โดยมักจะโยนให้เป็นหน้าที่ ของหมอ ของพยาบาล และตัวผู้ติดเชื้อเอง ทั้งๆ ที่เอดส์เป็นเรื่องของทุกคน คนทุกคนควรจะต้องป้องกันตัวเองให้ห่างจากโรค ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อ ก็ต้องดูแลรักษาตัวเองทั้งนั้น

...เชื่อไหมว่า ระหว่างที่หน่วยงานอย่างเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ตลอดจนภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่ทำงานด้านนี้พยามยามฟูมฟักเด็กและเยาวชนกว่า 3 หมื่นคนที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด จนเติบโตเป็นวัยรุ่น มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดี มีความฝัน และพร้อมจะเป็นกำลังของสังคม แขนขาที่สำคัญของชาติอยู่นั้น ก็ยังมีเสียงก่นด่าซึ่งอาบด้วยมายาคติ ผิดๆ พร้อมวาจาเชือดเฉือนต่างๆ นานา

"รู้ไหมว่า พวกคุณกำลังเลี้ยงระเบิดเวลาอยู่!"

นั่นก็เป็นอีกหนึ่งมายาคติผิดๆ ซึ่งกลายเป็น "แรงระเบิด" ที่แท้จริง และ ส่งผลรุนแรงยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นสังคม หรือผู้ติดเชื้อHIV ใกล้กว่าที่คิด

แม้ในร่างกายจะมีเชื้อเอชไอวีอยู่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เด็ก และเยาวชน ที่ติดเชื้ออยู่กว่า 3 หมื่นคนจะเป็น "ระเบิดเวลา" อย่างที่ถูกกล่าวหา

ในทางตรงกันข้าม ขณะที่สังคมตีตรา "ผู้ติดเชื้อ" ไม่ต่างจากอาชญากร และตัดสิน "ถุงยางอนามัย" ว่ามีไว้สำหรับคนที่มีปัญหา ใครใช้ถุงยางแปลว่าคนๆ นั้นผิดปกติ ขณะเดียวกัน "คนธรรมดา" ก็เชื่อมั่นในตัวเองและคู่นอน โดยปฏิเสธ ที่จะไปตรวจเลือด ทั้งๆ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เพราะไม่ใช้ถุงยางอนามัย

ตรรกะง่ายๆ ที่ไม่ต้องคิดให้ซับซ้อนก็น่าจะจินตนาการได้ว่า หากวันหนึ่งเขาเหล่านี้เกิดติดเชื้อขึ้นมา ในระหว่างที่ยังไม่แสดงอาการ พวกเขาจะอยู่ในสถานะ "อาชญากร" ในความหมายเดียวกันกับที่ผู้ติดเชื้อเคยถูกตัดสินมาแล้วหรือไม่?

"ปัญหาจะไม่หมดไปอย่างแน่นอน ถ้าคนยังไม่รู้จักที่จะป้องกัน แถมยังเอาแต่จ้องจะกีดกันผู้ติดเชื้อไม่ให้มีโอกาสได้เข้ามาอยู่ร่วมในสังคมได้อย่าง เท่าเทียม ที่สำคัญรัฐบาลเองซึ่ง ลงทุนกับเรื่องยาไปเยอะมาก ก็จะไม่มี ผลอะไร หากไม่ได้กระตุ้นเตือนให้สังคมมีความเข้าใจกับเอชไอวีมากกว่านี้ เพราะชีวิตคนไม่ได้มีแค่เรื่องยา"

โดยเขามองว่า ตราบใดที่บริษัทเอกชน หรือโรงเรียนสถานศึกษาต่างๆ ยังสามารถบังคับตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อได้ ปัญหานี้ ก็ไม่มีวันจะแก้ไขได้ เพราะคำว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ยังถูกละเลย และเว้นไว้สำหรับคนเพียงบางกลุ่ม

"แม้ว่าปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปมาก แต่ความรู้ความ เข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเอดส์ และการปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อในสังคมยังเป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารกันอีกมาก สังคมยังมีความสงสัยและมีทัศนคติที่ไม่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรต่อผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยับยั้งการแพร่เชื้อ" เป็นประโยคที่ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับนิทรรศการ You Are Not Alone เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ยังมีหนึ่งความจริงที่หลายคนอาจไม่รู้ ก็คือ ในบรรดาผู้ติดเชื้อรายใหม่ รองจากกลุ่มชายรักชายแล้ว ก็คือ "แม่บ้าน" กลุ่มที่เคยคิดว่าปลอดภัย และไม่น่าจะมีความเสี่ยง

จากข้อมูลประกอบนิทรรศการดังกล่าว ระบุว่า ราว 28 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อเอดส์ รายใหม่ของไทย เป็นแม่บ้านที่ติดเชื้อจากสามี หรือคู่นอนประจำ ในทางกลับกันกลุ่มสามีที่ติดจากภรรยามีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกันกับกลุ่มชายที่ติดจากหญิง ขายบริการก็มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์

ย้อนกลับไปดู เอดส์ในปี 2555 เปลี่ยนจากโรคที่ "รักษาไม่ได้" เป็น "รักษาได้" แม้จะไม่หายขาด ไม่ต่างโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ภูมิแพ้ เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ฯลฯ หากเข้ารับยาต้านไวรัสเอดส์แต่เนิ่นๆ แต่การจะทำให้คนมาตรวจเอดส์ด้วย ความสมัครใจ หรือทำให้ผู้ติดเชื้อกล้าเข้ารับการรักษากลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ยิ่งเมื่อเติ่มคำพูดที่ว่า "ทันทีที่เรา รู้ว่าเพื่อนเราติดเชื้อ เขากลายเป็น คนแปลกหน้าไปในพริบตา" ลงไป ก็เท่ากับชนวนระเบิดถูกจุดขึ้นโดยอัตโนมัติ และภาพเก่าๆ คำพูดเดิมๆ ก็จะประเดประดังเข้ามาราวกับว่า เรายังไม่เคยทำความเข้าใจกับเอดส์ และผู้ติดเชื้อมาก่อน

การพูดถึงยาต้านไวรัส สิทธิในความเป็นมนุษย์ ตลอดจนพื้นที่สำหรับพวกเขาในสังคม คงจะไม่เท่าการเริ่มก้าวแรกในการสร้างความเข้าใจอันเปราะบางเหล่านี้ ให้เกิดขึ้นก่อน

เพราะที่สุดแล้ว "ความรับผิดชอบของผู้ติดเชื้อ" อาจจะหมายถึง "ความ รับผิดชอบ" ในการขจัด "เชื้อร้าย" ที่ฝังอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ ของคนไทย มาตั้งแต่แรกมากกว่ามาร้องหาความยุติธรรมจากพวกเขา ...หรือไม่ใช่ ?

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง