ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่างกรอบเจรจาการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอและรอนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ร่างกรอบเจรจาฯ ดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ "โพสต์ทูเดย์"ได้เอกสารดังกล่าวมา จึงขอวิเคราะห์เพื่อฉายภาพความไม่ปกติของการเร่งรัดเจรจาเอฟทีเอในครั้งนี้

ร่างกรอบเจรจาฯ ครั้งนี้ ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้อ้างถึงการแถลงนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีต่อรัฐสภาว่า "มีนโยบายขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน และการตลาดภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว"

แต่ไม่ได้ระบุเนื้อหาที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ชินวัตร แถลงอีกสองประโยคถัดมา ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน นั่นคือ "พร้อมทั้งวางแนวทางป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ และมาตรฐานต่างๆ"

คำถามคือ กรมเจรจาฯ จงใจละเลยและเพิกเฉยต่อผลเสียที่จะเกิดขึ้น เพราะให้น้ำหนักไปกับอำนาจทางเศรษฐกิจของอียู แต่ไม่กล่าวถึงวิกฤตยูโรโซนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กลับอ้างว่า ปัญหายูโรโซนจะทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น จึงควรเร่งเจรจา ทั้งที่ในทางตรงกันข้ามในปัจจุบันอียูมีข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเข้มงวดกว่าเดิมมาก

นอกจากนี้ ยังรวบรัดว่า ถ้าไม่ทำเอฟทีเอ นักลงทุนจะย้ายฐาน และเหตุผลสำคัญที่ใช้ในการเร่งการเจรจา คือ โอกาสที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) โดยอ้างตัวเลขในปี 2554 ที่ผ่านมา สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิจีเอสพี มีมูลค่ากว่า 2.97 แสนล้านบาท และมีสินค้าสำคัญที่ใช้สิทธิดังกล่าว ได้แก่ รถยนต์ขนส่ง เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลสด อาหารทะเลแช่แข็งสับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง เป็นต้น

แต่ไม่มีคำอธิบายว่า การถูกตัดสิทธินั้น เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูงติดต่อกัน 3 ปี และมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 17.5% ไปแล้ว และแม้จะถูกตัดสิทธิ GSP ทั้งหมดจะส่งผลกระทบกับการสูญเสียรายได้จากการถูกแย่งตลาด ประมาณ 2,562 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 79,422 ล้านบาท)ไม่ใช่ทั้งหมดของมูลค่าการส่งออก

กรมเจรจาฯ ได้ไล่เรียงการรับฟังความคิดเห็นอย่างละเอียดตั้งแต่ปี 2552 จนถึงการจัดการรับฟังของคณะกรรมการตามมติ ครม.ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการจัด Focus Group เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา แต่การจัดรับฟังความเห็นทั้งหมดเป็นเพียงการรวบรวมข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจาเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ที่ ครม.ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อคิดเห็นทั่วประเทศของคณะกรรมการที่ตั้งตามมติ ครม. ข้อห่วงกังวลที่เด่นชัดคือ การมีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าที่ตกลงไว้แล้วใน WTO ที่จะก่อให้เกิดการผูกขาดการเกษตรอย่างครบวงจรกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิตของชุมชนและเกษตรกรรายย่อย

รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการใช้มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรยาและการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน การเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ จะทำให้มีการบริโภคมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง การสูญเสียทรัพยากรของประเทศและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากข้อห่วงกังวล คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นยังมีข้อเสนอแนะในหลายเรื่องอาทิ การเจรจาเรื่องระดับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าที่ผูกพันใน WTO และควรให้อียูถ่ายทอดเทคโนโลยีและความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาไทยการเจรจาต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนและอ่อนไหวทางสังคมสูง ได้แก่ ยา สุรา บุหรี่ ต้องเจรจาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงกังวลและข้อแนะนำโดยเฉพาะประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับงานศึกษาของสถาบันทีดีอาร์ไอที่กรมเจรจาฯ จัดจ้างว่าต้องไม่ยอมรับทริปส์พลัสนั้น กลับไม่สะท้อนอยู่ในร่างกรอบเจรจาฯ ที่ผ่านครม.เมื่อวันที่4 ธ.ค. ซึ่งต่างจากร่างกรอบเจรจาฯที่ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลความตกลงการค้าเสรีที่มี ไตรรงค์ สุวรรณคีรีรองนายกฯ ขณะนั้นเป็นประธาน ซึ่งระบุชัดเจนว่า"ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าที่ผูกพันไว้ในความตกลงของ WTO กฎหมายไทย หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคี"ข้อสังเกตอีกประการ คือ การรายงานผลการประชุม Focus Group ในกลุ่มสินค้ายาเมื่อวันที่7 ก.ย.ที่ผ่านมา อ้างคร่าวๆ ว่า กลุ่มหนึ่งสนับสนุนการเจรจาที่อาจครอบคลุมไปมากกว่าทริปส์ อีกกลุ่มประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาสังคมเห็นว่าต้องจำกัด เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน โดยสองฝ่ายมีเหตุผลสนับสนุนอย่างแข็งขัน ไม่มีการให้รายละเอียดว่ากลุ่มใดให้การสนับสนุน

ในขณะที่ช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏว่า กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการยอมรับทริปส์พลัส ประกอบไปด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข ภาควิชาการภาคประชาสังคม และอุตสาหกรรมยาในประเทศขณะที่กลุ่มที่เห็นด้วยกับการยอมรับทริปส์พลัส คือพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ในฐานะตัวแทนสภาหอการค้าไทย และที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งจะได้ประโยชน์โดยตรงกับการคงสิทธิGSP แบบถาวร และ อำพร เจริญสมศักดิ์ ตัวแทนสมาคมพรีม่า ซึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติที่งานศึกษาของทีดีอาร์ไอระบุว่า จะได้ประโยชน์เต็มๆ จากการยอมรับทริปส์พลัส ขณะที่ประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

นอกเหนือจากเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาแล้วเนื้อหาร่างกรอบเจรจาฯ ยังมีข้อน่าห่วงกังวลในประเด็นการลงทุน ข้อ 5.9.5 ที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่งในการระงับข้อพิพาทเพราะขณะนี้เป็นความห่วงกังวลของหลายประเทศทั่วโลกที่เจรจาเอฟทีเอในลักษณะนี้เนื้อหาส่วนนี้เรียกชื่อทางการว่ากลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor State Dispute Settlement - ISDS) ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ต้องการยกเว้นไม่เจรจาในการเจรจา TPP ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้

เนื่องจากประสบการณ์ของประเทศในความตกลง NAFTA ที่ถูกนักลงทุนต่างชาติใช้กลไกดังกล่าวในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มนโยบายสาธารณะมานักต่อนัก แต่ในร่างกรอบเจรจาฯ เอฟทีเอไทย-อียู กลับเปิดทางให้

หากพิเคราะห์ตลอดร่างกรอบเจรจาฯ จะพบว่า สาระที่เกี่ยวกับความต้องการของภาคธุรกิจไทย จะได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างหนักแน่นเช่น ประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่ยืนหยัดให้ใช้กฎหมายและระเบียบภายในประเทศที่มีอยู่และเน้นเรื่องความร่วมมือมากกว่าการบังคับ

จึงน่าตั้งข้อสังเกตได้ว่า เป็นการตอบสนองความต้องการของทุนใหญ่โดยละเลยสิ่งที่เคยให้สัญญาประชาคมไว้ในนโยบายรัฐบาลที่จะ "วางแนวทางป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ"

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 ธันวาคม 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง