ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สมาคมธนาคารไทยห่วงหนี้นอกระบบ โขกดอกเบี้ยกู้สูง รัฐบาลต้องเร่งช่วยมนุษย์เงินเดือนด่วน เสนอรัฐใช้เงินประกันสังคม 5 หมื่นล้าน ปล่อยกู้พนักงานโรงงาน แนะตั้งแบงก์เฉพาะกิจปล่อยกู้คนจน ด้านแบงก์ชาติทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี รับเปิดเสรีอาเซียน

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้นอกระบบของไทยถือว่ามีความรุนแรงและน่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากมีการเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด โดยบางรายคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 200% ต่อเดือน และยังมีการทวงหนี้ที่รุนแรงและอยู่นอกเหนือกฎหมาย รัฐบาลจึงควรแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

โดยเห็นว่า การขึ้นทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านระบบสินเชื่อของธนาคารเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เนื่องจากสถาบันการเงินมีเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่ชัดเจน โดยจะดูความเป็นไปได้ในการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก ทำให้ผู้กู้ที่มีคุณสมบัติไม่เพียงพอ ไม่สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อของธนาคารได้ ดังนั้นการใช้ระบบสวัสดิการสังคมเข้ามาช่วยเหลือ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบอย่างชัดเจน เพื่อช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริง โดยพิจารณารายละเอียดของรายได้และการใช้จ่ายของลูกหนี้ ว่าเป็นการใช้จ่ายที่มีความจำเป็นหรือเป็นการใช้จ่ายเกินตัว เชื่อว่ารัฐบาลมีงบประมาณที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพียงพอ

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบประเทศที่มีคนจนมากอย่างจีนและอินเดีย พบว่าไม่มีปัญหาหนี้นอกระบบเหมือนไทย สิ่งสำคัญคือ ต้องแก้ที่นิสัยของคนไทยว่าอย่าใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมได้รับหนังสือร้องเรียนจำนวนมาก แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เนื่องจากไม่มีการระบุชื่อที่อยู่ของผู้ที่ร้องเรียน แต่เป็นลักษณะของการปรับทุกข์

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบที่สังคมไทยยังไม่ค่อยรับรู้และ ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา คือปัญหาหนี้นอกระบบของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ขณะนี้มีมนุษย์เงินเดือนประมาณ 17 ล้านคน โดย 14 ล้านคนทำงานภาคเอกชน และอีก 8-9 ล้านคน มีรายได้ไม่ถึง 8,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคนเหล่านี้กู้หนี้นอกระบบ เสียอัตราดอกเบี้ย 8-10%

จะเสนอให้รัฐบาลนำเงินจากสำนักงานประกันสังคมมาออกพันธบัตรจำนวน 50,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารของรัฐ เพื่อปล่อยกู้ให้กับพนักงานโรงงาน โดยมีเงื่อนไข ผู้กู้จะต้องมีเงินฝากประจำ 10% ของวงเงินที่จะกู้ หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายหมายที่วางไว้ ผู้กู้จะสามารถใช้หนี้คืนได้ภายใน 3 ปี และสามารถนำเงินฝากที่ได้จากการระดมทุนจากลูกหนี้ไปตั้งธนาคารเฉพาะกิจเพื่อปล่อยกู้ให้กับกลุ่มคนงานที่มีรายได้น้อย

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว่า ธปท.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ธปท.กับอนาคตประเทศไทย ซึ่งเป็นแผนช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า (ปี 2555-2559) โดย ธปท.มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย และให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดัก ของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยจะร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์นี้ ซึ่ง ธปท. มียุทธศาสตร์หลักในปี 2556 ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ด้านแรก การเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจการเงินกับต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมในการรับบทรุกในเวทีการค้าและการลงทุนโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน +6 และกลุ่มประเทศ CLMV โดย ธปท.จะเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมให้กับภาคเอกชน

ด้านที่ 2 คือ การยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งการร่วมมือกับภาครัฐ ในการสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศ พัฒนาฐานข้อมูลสินเชื่อ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงบริการทางการเงิน ส่วนด้านที่ 3 คือ การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินพื้นฐานอย่างทั่วถึง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดย ธปท.ยังคงเดินหน้าโครงการไมโครไฟแนนซ์ เพื่อให้บริการทางการเงินกับประชาชนในระดับรากหญ้า และเพิ่มบทบาทศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศศง.) ผ่านสายด่วนหมายเลข 1213 เพื่อดูแลผู้บริโภคจากการคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยโหด รวมทั้งมีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการจัดการเงินสด

ด้านสุดท้าย คือการสร้างเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน เพื่อเตรียมตัวรองรับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเติบโตในอนาคต โดย ธปท.จะดำเนินการปรับระบบการติดตามของการไหลเข้า-ออกเงินตราต่างประเทศ โดยถือเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องผสมผสานเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาท ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะปัจจัยต่างประเทศยังไม่น่าไว้วางใจ จากปัญหาความไม่สมดุลของระบบการเงินโลกที่ทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบข้างเคียง

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 18 ธันวาคม 2555