ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ กมธ.เศรษฐกิจฯ สปช.ย้ำ ระบบสุขภาพไปไม่รอดถ้าให้รัฐแบกภาระทั้งหมด ใครมีกำลังก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ให้รัฐช่วยเฉพาะกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จริงๆ

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า แนวคิดการจัดทำรายงานเรื่อง “แนวทางการปฏิรูประบบการประกันสุขภาพ” ที่ได้นำเสนอ กมธ.เศรษฐกิจฯ ไปนั้น มีหลักการคือการที่รัฐบาลให้หลักประกันทางสุขภาพแก่ประชาชนผ่าน 3 กองทุนสุขภาพ แต่เงินที่ใช้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเร็วมาก ยิ่งในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุก็ยิ่งใช้เงินเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นหากรัฐบาลรับมาเป็นภาระของตัวเองทั้งหมด มันไปไม่รอด ดังนั้นต้องมาดูว่ารัฐจะมีจุดยืนอย่างไร จะไปไกลแค่ไหน

นายธวัชชัย ยอมรับว่ามีกลุ่มคนที่ต้องช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจริง แต่ระบบในปัจจุบันไม่ได้แยกคนกลุ่มนี้ออกมา โรงพยาบาลรัฐก็รับภาระไม่ไหวจนเกิดปัญหาขาดทุนมากมาย ดังนั้นก็ต้องดูว่ามีกลุ่มคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เป็นจำนวนเท่าไหร่ อาจจะมี 14-15 ล้านคน ส่วนคนที่เหลือก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ตัวอย่างเช่นในต่างประเทศก็สนับสนุนให้ประชาชนทำประกันสุขภาพกันเยอะแยะไป

“ผมเคยคุยกับพวกบริษัทประกันว่าถ้าคนไปทำสุขภาพเยอะๆเขาจะทำอย่างไร เขาตอบว่าในต่างประเทศ บริษัทประกันจะไปเจรจากับโรงพยาบาล ดูว่ารักษาแต่ละโรคมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เกณฑ์เป็นอย่างไร มันมีมาตรฐานของมันอยู่ ถ้าเกินกว่านั้นบริษัทประกันเขาก็ไปจัดการกันเอง”นายธวัชชัย กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าแนวคิดเช่นนี้อาจถูกวิจารณ์ได้ว่าไม่ได้มองหลักประกันด้านสุขภาพว่าเป็นสิทธิ แต่เป็นการทำบริการสุขภาพให้กลายเป็นการสงเคราะห์ นายธวัชชัย ตอบว่า “เราก็ต้องยอมรับความจริง คุณสามารถรับความจริงได้ไหมว่าดูแลตัวเองได้ไหม ถ้าดูแลตัวเองไม่ได้ก็บอก”

“ตอนนี้มีคนเสียภาษีทั้งประเทศ 3 ล้านกว่าคน จะให้คน 2-3 ล้านคนไปรับภาระได้ยังไง ผมไม่เชื่อว่าใน 49 ล้านคนที่ใช้สิทธิบัตรทองจะเป็นคนจนทั้งหมด ถ้าให้คนที่ใช้สิทธิยื่น ภงด. คนที่มีรายได้สูงมันก็จะมีหลักฐานโชว์ขึ้นมา ก็คงมีละอายกันบ้างล่ะน่า”นายธวัชชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานเรื่องแนวทางการปฏิรูประบบการประกันสุขภาพต้องรอเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่ สปช. และขึ้นอยู่กับว่า สปช.จะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป

“เนื่องจากผมอยู่ในกมธ.เศรษฐกิจฯ การจะทำอะไรที่ดีมันต้องดูกระเป๋าเราด้วย ไม่อย่างนั้นคุณภาพมันก็เป็นอย่างที่เห็นๆกันอยู่”นายธวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง สาระสำคัญของรายงานฉบับดังกล่าว เช่น ส่งเสริมการประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิต เช่น นำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบาท, ส่งเสริมบทบาทของโรงพยาบาลเอกชนในการรักษาพยาบาล, จำกัดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเสนอให้ผู้ใช้สิทธิต้องถูกบังคับยื่น ภงด.  และเพิ่มการเก็บเงิน 30 บาท เป็น 100 บาท, มาตรการควบคุมราคายา และค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างรุนแรงหากโน้มเอียงไปในทางคุ้มครองผู้บริโภคฝ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงต้นทุน คุณภาพการให้บริการ, ระบบสวัสดิการข้าราชการ เสนอให้รัฐบาลอาจนำงบส่วนหนึ่งไปเป็นเบี้ยประกันของข้าราชการเพื่อการรักษาบางส่วน และให้รัฐบาลจ่ายส่วนเกินวงเงินประกันสุขภาพ