ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนไม่สน "แผนจัดอัตรากำลัง" 21 ธ.ค. นัดชุมนุมหน้า สนง.ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กดดันฝ่ายบริหารบรรจุเป็น "ข้าราชการ" เท่าเทียมสายวิชาชีพ

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 21 สายงาน จำนวน 22,641 อัตรา จากลูกจ้างชั่วคราว 30,188 คน เฉลี่ยปีละ 7,547 อัตรา จนครบ 3 ปี ส่วนที่เหลือให้ปรับสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) แต่เจ้าพนักงานเวชสถิติ และเจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์ เรียกร้องขอให้ฝ่ายบริหารเพิ่ม 2 ตำแหน่งดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มวิชาชีพด้วยการเพิ่มเป็น 23 สายงานนั้น

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม แหล่งข่าวกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการรวบรวมรายชื่อลูกจ้างชั่วคราว สธ.ได้ 1,000 คน ประกอบด้วย เจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานเวชสถิติ และเจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา ฯลฯ โดยทั้งหมดนัดชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ เพื่อขอให้ผู้บริหาร สธ. เพิ่มเจ้าพนักงานกลุ่มดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งสัดส่วนผู้ที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเหมือนกับลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ 21 สายงาน เนื่องจากเจ้าพนักงานกลุ่มนี้รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมที่ถูกจัดให้เป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มในนักเรียนทุนที่ สธ.ผลิต และมีวิชาชีพไม่แตกต่างจากแพทย์ พยาบาล

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า เป็นสิทธิที่พึงกระทำ และยืนยันว่า สธ.ได้พยายามหาแนวทางแก้ปัญหาและช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมที่สุดแล้ว โดยในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ จะมีการประชุมหารือถึงการแบ่งสัดส่วนการบรรจุข้าราชการในแต่ละสายวิชาชีพ โดยในการประชุมจะมีกลไกของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับเขต (คปสข.) ซึ่งผู้ตรวจราชการเขต 12 เขตพื้นที่บริการ เข้าร่วมพิจารณาว่าแต่ละพื้นที่มีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรสายวิชาชีพใดบ้าง และจำนวนเท่าใด คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้สามารถบรรจุได้ทันภายในเดือนมกราคม 2556

ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ดูแลบุคลากรสาธารณสุขทุกคนทุกระดับเท่าเทียม และว่าข้อเท็จจริงแม้จะมีการประกาศบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน 21 สายวิชาชีพ เป็นข้าราชการ แต่ในข้อเท็จจริงยังมีวิชาชีพอื่นๆ ซึ่ง สธ.นับรวมอยู่ด้วย สำหรับเจ้าพนักงานสาธารณสุข จัดเป็นหนึ่งในข้าราชการเหมือนกัน เพียงแต่วุฒิการศึกษาไม่จบปริญญาตรี ซึ่งตรงนี้หากรายใดมีการศึกษาต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี สธ.จะปรับให้เป็นนักวิชาการ ซึ่งทุกขั้นตอนมีแผนรองรับอยู่แล้ว

--มติชน ฉบับวันที่ 20 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง