ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ตลอดปีแห่งเสียงหัวเราะ 2555 ในแวดวงสาธารณสุขเกิดข่าวที่น่าสนใจไม่น้อย ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด ระบบสาธารณสุขและนโยบายของรัฐ ซึ่ง 10 ข่าวที่มีความโดดเด่น ดังนี้

1.ซูโดฯ หายจากรพ. กลายเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบต่อวงการสาธารณสุขไทยอย่างยิ่ง เมื่อมีการตรวจสอบพบว่ายาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนหายและมีการสั่งซื้อจำนวนมากผิดปกติในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) 9 แห่ง จำนวน 12 ล้านเม็ด มูลค่ารวมกว่า 15 ล้านบาท โดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง ผลปรากฏว่าผิดวินัยร้ายแรง 6 ราย และไม่ร้ายแรง 23 ราย ทั้งนี้ซูโดอีเฟดรีนสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดได้ ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยกระดับจากควบคุมพิเศษเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท การสั่งจ่ายยานี้ต้องทำโดยแพทย์และบันทึกรายงานการสั่งทุกครั้ง

2.มือเท้าปากระบาด เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโรคมือเท้าปากจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71)ในประเทศกัมพูชา จนสร้างความหวั่นวิตกและตื่นตกใจให้แก่คนไทยอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องออมกาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ว่า ประเทศไทยมีการระบาดทุกปี ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อคอกซากีซึ่งเป็นเชื้อที่ไม่รุนแรง มีเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 บ้างประปราย สามารถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยตั้งแต่ 1 มกราคม-1 ธันวาคม 2555 จำนวน 40,396 ราย เสียชีวิต 2 ราย

3.ม็อบนางฟ้า พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวสังกัดสธ.รวมตัวกันประมาณ 1,000 คน ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุเป็นข้าราชการทั้งหมดจำนวน 17,000 คน โดยให้เหตุผลว่าค้างบรรจุมาตั้งแต่ปี 2549 จนในที่สุด ครม.มีมติอนุมัติอัตราบรรจุข้าราชการให้สธ.จำนวน 22,641 อัตรา เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 2556-2558 ปีละราว 7,547 อัตรา สำหรับบรรจุลูกจ้างชั่วคราวในสังกัดไม่เฉพาะแต่พยาบาลเท่านั้น โดยปีกแรกสธ.จะบรรจุให้แก่ลูกจ้าง 25 สายงานที่ทำงานก่อนปี 2549-2551 ใหน่วยงานที่ห่างไกล โรงพยาบาลชุมชนเปิดใหม่ และโรงพยาบาลที่มีภาระงานมากก่อน

4.ฟื้นเก็บ 30 บาท หลังจากยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทสำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อปี 2549 สมัยรัฐบาลขิงแก่ ทันทีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยหวนมากุมบังเหียนรัฐบาลอีกครั้ง ทำให้กลับมาเก็บอีกครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ยึดหลักความสมัครใจ ใครประสงค์จ่ายก็จ่าย ใครไม่ประสงค์จ่ายไม่ต้องจ่าย จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าการฟื้นเก็บ 30 บาทเป็นเพียงการรีแบรนด์ให้คนจดจำว่านโยบายนี้เป็นของพรรคการเมืองใดเท่านั้น

5.ลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน หนึ่งในนโยบาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเริ่มด้วยโครงการ"เจ็บป่ยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น" เป็นการให้สิทธิกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจจะส่งผลต่อชีวิตแก่ผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุนที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลที่ระบุตามสิทธิ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จะทำหน้าที่ในการเคลียร์ค่าใช้จ่าย และตามด้วยการดูแลผู้ป่วยไตและเอดส์ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกัน ก่อนขยายสู่ผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต

6.ยกเลิกเบิกกลูโคซามีน เมื่อปี 2554 กระทรวงการคลังเคยประกาศผ่อนคลายการเบิกจ่ายยากลูโคซามีนสำหรับผู้ป่วย ข้อเข่าเสื่อมใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของแพทย์ จนช่วงเดือนตุลาคม 2555 กระทรวงการคลังออกประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง ยกเลิกเบิกจ่ายยากลูโคซามีน แต่ถูกแรงต้านอย่างหนักจากกลุ่มข้าราชการบำนาญที่เป็นผู้สูงอายุและส่วนใหญ่ต้องใช้ยาตัวนี้ จนถึงกับฟ้องร้องศาลปกครอง ทำให้กระทรวงการคลังต้องชะลอประกาศยกเลิกเบิกจ่ายไปก่อนโดยไม่มีกำหนด

7.คอตีบหวนกลับ ปี 2555 มีรายงานการระบาดของโรคคอตีบหลังจากที่ไม่พบโรคนี้ระบาดในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ อาทิ จ.เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครราชสีมา มหาสารคาม สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2555 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 42 ราย ร้อยละ 90 เป็นผู้ใหญ่และเด็กโต เสียชีวิต 4 ราย คาดเกิดจากการเคลื่อนย้ายประชากรแรงงาน และการไม่ได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่ครอบคลุม

8.โคโรน่าไวรัส 2012 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศในช่วงปลายเดือนกันยายน 2555 แจ้งการพบโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือโรคโคโรน่า 2012 โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 2 ราย เป็นชาวซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรายงานการตรวจพบผู้ป่วย และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาให้ความเห็นว่าความรุนแรงและการติดต่อของโรคยังไม่สามารถสรุปได้เพราะมีผู้ป่วยน้อยเกินไปโดยจนถึงขณะนี้ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุว่า พบผู้ป่วยจำนวน 9 ราย ยืนยันเสียชีวิต 5 ราย จาก 3 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และจอร์แดน

9.ผ่าน 3 กฎหมายเหล้า 1 ปีที่ผ่านมา กฎหมายเกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลบังคับใช้ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการห้ามขาย หรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน 2.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการห้ามขาย หรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัฐวิสาหิกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ พ.ศ.... และ 3.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะขณะขับขี่ หรือโดยสารอยู่บนรถทุกประเภท ส่วนร่างประกาศเรื่องการห้ามขายบนทาง ซึ่งจะครอบคลุมทางเท้าด้วยนั้น ยังไม่มีผลบังคับใช้         

10.เปลี่ยนผู้บริหารยกยวง ช่วงปลายปีมีการเปลี่ยนแปงผู้บริหารระดับสูงของสธ. เนื่องจากมีการเกษียณอายุราชการหลายตำแหน่งตั้งแต่ปลัดสธ. อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และหลังจากนั้นเพียงไม่ถึงเดือน มีการปรับครม.ส่งผลให้นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข และ นพ.สุวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข พ้นจากตำแหน่ง โดยมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และ รมช.สาธารณสุข แทน

ที่มา : นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ 28 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)