ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 15 มกราคม นายภาสกร เจนประวิทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมคณะ 5 นายลงพื้นที่ตรวจสอบศูนย์หัวใจสิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โดยเข้าพบ รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ผศ.นเรศ วโรภาสตระกูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มข. และ นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวช ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ร่วมรับฟังและให้ข้อมูล ที่ห้องผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ

ส่วนเจ้าหน้าที่พนักงานดีเอสไอ ตรวจสอบฝ่ายเภสัชกรรม และสอบสวนเจ้าหน้าที่ของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ กรณีการจัดซื้อยา Bosentan (โบเซนแทน) หรือชื่อทางการค้า Tracleer (เทรเคลียร์) ซึ่งเป็นยารักษาโรค ความดันเส้นเลือดในปอดสูง ในราคาซื้อขายแพงกว่าสถานพยาบาลแห่งอื่นในประเทศไทยอย่างมาก

นายภาสกรกล่าวว่า มีผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ มีพฤติกรรมทุจริตการจัดซื้อยาโบเซนแทน ซึ่งเป็นยารักษาโรคความดันเส้นเลือดในปอด ในราคาซื้อขายแพงกว่าสถานพยาบาลแห่งอื่นมาก ครั้งนี้เป็นการหารือและขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้บริหาร ยังไม่ได้กล่าวหาใคร ซึ่งดีเอสไอจะให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ราคายาอ้างอิงที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข ประกาศราคายาโบเซนแทน ขนาด 125 มิลลิกรัม บรรจุขวดละ 60 เม็ด ราคาขวดละ 96,300 บาท หรือราคาเม็ดละ 1,605 บาท ขณะที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่จัดซื้อในราคาอ้างอิงหรือใกล้เคียง แต่ศูนย์หัวใจ สิริกิติ์ฯ จัดซื้อยาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2550-2555 ราคาขวดละ 146,590 บาท หรือเม็ดละ 2,443.16 บาท สูงกว่าราคาอ้างอิงเม็ดละ 838.16 บาท หรือขวดละ 50,290 บาท คิดเป็นราคาสูงกว่าราคาอ้างอิงร้อยละ 35 เงินส่วนต่างกว่า 3.50 ล้านบาทต่อปี

อีกทั้งการจัดซื้อยาดังกล่าว ต้องซื้อจาก บริษัท ซิลลิค ฟาร์ม่า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งดีเอสไอจะสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ หากพบว่ากระทำความผิดที่ชัดเจน จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป

ผศ.นเรศกล่าวว่า เนื่องจากบริษัทจำหน่ายยาดังกล่าวมีรายเดียว และคณะกรรมการจัดซื้อเคยทักท้วงแล้วว่าทำไมราคาจำหน่ายให้ศูนย์หัวใจสิริกิติ์สูงกว่าที่อื่น ได้รับคำตอบว่าโรงพยาบาลแห่งอื่นสั่งซื้อครั้งละจำนวนมากราคาจึงถูกกว่า ขณะที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ มี ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยานี้น้อยกว่า จำนวนสั่งซื้ออยู่ที่ปีละ 10-15 ขวดเท่านั้น ราคาจึงแพงกว่าที่อื่น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 มกราคม 2556