ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อเป็นตรายางเห็นชอบเท่านั้น ชี้ไม่แน่ใจจะทำให้ระบบการเงิน สปสช.มีเสถียรภาพอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ ด้านหมอวินัยยันไม่กระทบงบเหมาจ่ายรายหัว เชื่อจะต้องได้รับงบเพิ่มขึ้นแน่นอน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการประชุมบอร์ด สปสช. วาระพิเศษ เรื่อง "ข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เพิ่มเติม) กรณีเงินเดือนและค่าจ้างประจำของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และมีการรายงานระบุว่าจะทำให้เงินที่รัฐบาลจะจัดสรรค่าเหมาจ่ายรายหัวลดลงว่า ในการนำตัวเลขเงินเดือนมารวมทั้งหมด หรือ 100% นั้น จะทำให้สะท้อนข้อมูลที่เป็นต้นทุนการจัดบริการที่โรงพยาบาล เพื่อจะทำให้เห็นต้นทุนการใช้เงินสำหรับบุคลากรที่แท้จริง และไม่เกิดความแตกต่างระหว่างค่าตอบแทนสำหรับข้าราชการ และค่าตอบแทนสำหรับพนักงานของกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้การบริหารจัด การในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.วินัยกล่าวว่า นอกจากนี้ยังจะมีข้อเสนอให้มีการจัดงบค่าตอบแทนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4, 6 และ 7 มารวมอยู่ในงบ สปสช. นอกงบเหมาจ่ายรายหัว และส่งต่อเป็นเงินบำรุงของหน่วยบริการเพิ่มอีกจำนวน 3,000 ล้านบาท จากนั้นจะส่งไปเป็นเงินบำรุงของหน่วยบริการ โดยเป็นการของบประมาณมารวมอยู่ใน สปสช.ที่เดียว เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาการใช้ระเบียบด้วยเงินบำรุงที่มีมาตลอด ทั้งนี้ คาดว่างบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2557 จะเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท

ด้านนางสาวบุญยืน ศิริธรรม กรรมการบอร์ด สปสช. กล่าวว่า หากเอางบประมาณตรงนี้มารวมกันจริง ก็จะทำให้ได้รู้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงนั้น อาจจะเป็นกุศโลบายของเขา ส่วนตัวไม่ได้ขัดแย้ง ไม่ได้คัดค้านเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือไม่เคยมีการเอาเรื่องนี้มาคุยในบอร์ด ไม่เคยมีการคุย ไม่เคยมีการหารือร่วมกัน ไม่เคยมอบหมายให้ใครไปศึกษาข้อมูล อยู่ที่ดีๆ รัฐมนตรีฯ จะทำก็เรียกมาประชุม เรียกกรรมการให้ไปรับทราบ เพราะในกฎหมายเขียนไว้ว่าถ้าไม่ผ่านบอร์ดจะเอาเข้า ครม.ไม่ได้ แต่ตนรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการ ควรให้คณะกรรมการร่วมรับรู้ว่าทำอย่างนี้แล้วดีหรือไม่ดีอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายมาจะเอาอย่างนี้แล้วเรียกคณะกรรมการมาแสตมป์

"บอกตามตรงว่า ไม่ทราบว่าเขามีจุดมุ่งหมายเช่นไรกับการทำเช่นนี้ เพราะว่ามันไม่เคยมีการพูดคุย คงจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าทำอย่างนี้แล้วได้อะไร แล้วความเสี่ยงที่จะเสียหายจะเสียหายอย่างไร ต้องไปฟังว่าต้นสายปลายเหตุคืออะไร บอกตรงๆ เป็นการเข้าประชุมเพื่อให้ยอมรับข้อเสนอ ยังไม่บอกว่าดีหรือไม่ดี ขบวนการไม่ดี ขบวนการในรูปแบบคณะกรรมการก็ควรให้คณะกรรมการร่วมรับรู้ว่าทำอย่างนี้แล้วดีหรือไม่ดีอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายมาจะเอาอย่างนี้เรียกคณะกรรมการมาแสตมป์ ฉันเสียงข้างมากอย่างไรก็ผ่าน อย่างนี้ไม่ถูกต้อง คิดว่าตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมของ สธ. ถ้าคิดอย่างนี้ ยังคิดเชิงอำนาจว่าทุกคนอยู่ในอำนาจ ฉันคิดอะไรมาต้องแสตมป์ให้ฉัน อย่างนี้เป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง" นางสาวบุญยืนกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาหลายอย่างจะเน้นเรื่องการบริหารงบประมาณของ สธ. นางสาวบุญยืนกล่าวว่า เขาเป็นนักธุรกิจก็จะสนใจเรื่องนี้ แต่ตนไม่ได้ตำหนิถ้าจะสนใจเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกให้ได้ว่าถ้าสนใจเรื่องนี้แล้ว การพัฒนาระบบที่นอกไปจากการบริหารจัดการเรื่องเงินคืออะไร ในความรู้สึกของตน สิ่งหนึ่งคือการเอาเงินมารวมนั้น อะไรจะสามารถประกันได้ว่าการเอาเงินมารวมตรงนี้แล้วจะทำไปสู่การพัฒนาระบบและควบ คุมค่าใช้จ่ายได้ เพราะฉะนั้นในที่ประชุมคงต้องมีการตั้งคำถามว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร อะไรคือหลักประกัน และถ้าขาขึ้นเป็นอย่างนี้ ถ้าเอาเงินมารวมทั้งหมด ซึ่งเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายประจำและขึ้นปีละ 6% ทุกปี กรณีขาขึ้นเราทำได้ แต่ถ้าเขาตัดไม่ได้ให้ตามนี้ ในขณะที่เงินเดือนตัดไม่ได้ แล้วเปอร์เซ็นต์ที่ตัดจะไปตัดตรงไหน เพราะฉะนั้นถ้าตัดในเงินเดือนไม่ได้จริงจะทำอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม วันนี้ข้อมูลที่ได้ไม่มีความชัด เจนอะไรเลย

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าในการปรับเปลี่ยนด้านการเงินครั้งใหญ่ขนาดนี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคตหรือไม่ นางสาวบุญยืนกล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน แต่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า สปสช.ยังอยู่ได้อย่างเข้มแข็งได้หรือไม่ จะบริหารจัดการงบประมาณขาลงอย่างไร จะกระทบกับหลักประกันอย่างไร คิดว่าวันนี้จริงๆ สิ่งที่เห็น เช่น การโฆษณา 30 บาทยุคใหม่ สธ. ไม่มีชื่อ สปสช. ตนก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร คิดว่าโครงสร้างวันนี้ สธ.คือผู้ให้บริการ สปสช.เป็นผู้ซื้อบริการ ซึ่งสามารถที่จะบอกว่าการให้บริการควรจะพัฒนาส่วนไหน คนซื้อมีพลังต่อรองอยู่ แต่ถ้าเอากลับไปอยู่ในอุ้งมือของ สธ.ทั้งหมด อันนี้ต้องถามว่าพลังต่อรองในการที่จะพัฒนาระบบบริการอยู่ตรงไหน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 25 มีนาคม 2556