ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยาเสพติด ชื่อบอกในตัวอยู่แล้วว่า ติดง่าย-เลิกยากเลิกแล้วอาจหันกลับมาติดได้อีก ในเมื่อเป็นอาการเรื้อรังเช่นนี้ แทนที่จะผลักไสคนกลุ่มนี้ออกไป ทางออกที่ดีกว่าคือหันมาจัดการผ่านกระบวนการบาบัดในระบบ

- 1 -

เบื้องหน้าที่เห็น คือ "เมธาโดน"(Methadone) ขวดยาน้ำสีเขียว วางเรียงราย เป็นตับบนโต๊ะทำงานของศูนย์โอโซน คลินิกบำบัดผู้ติดยาเสพติด ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือน ตุลาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่ชุมชนของ ตำบล แม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

มองเผินๆ ยาน้ำแต่ละขวดมีสีเขียวใน เฉดเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว มีความเข้มข้นแตกต่างกัน ลดหลั่นจากมากไปหาน้อย โดยเบื้องหลังของแต่ละขวดมีอักษรย่อกำกับไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สะดวกในการเลือกใช้แก่ผู้เข้ารับการบำบัด เพราะแต่ละราย มีประวัติความเป็นมาแตกต่างกัน และมีความต้องการรับขนาดของยาไม่เท่ากัน

ใกล้ๆ กับขวดยาน้ำสีเขียว คือเอกสาร รายชื่อผู้เข้ารับการบำบัดราวๆ 100 ราย ซึ่งในเช้าวันนั้น มีชาวบ้านที่เข้ารับการรักษา ต่างทยอยเดินทางมารับยายังศูนย์แห่งนี้ พวกเขาลงนามในเอกสาร พร้อมกินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ก่อนจะแยกย้ายไปทำงานตามกิจวัตรประจำวันต่อไป "เราต้องให้ผู้เข้ารับการบำบัดกินยาเลย ไม่อนุญาตให้นำกลับบ้าน เพราะมันเสี่ยงเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ยาเกินขนาด หรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น เนื่องจากเมธาโดน เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ที่ต้องอยู่ใน ความควบคุม...." ประเสริฐ ทาทอง ผู้ประสานงาน ภาคอาวุโส มูลนิธิพีเอสไอ ประเทศไทย อธิบาย

เป็นที่ทราบกันดีว่า วงการแพทย์ได้นำ เมธาโดน มาใช้เพื่อบำบัดรักษาผู้ติดยามานานแล้ว โดยเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตั้งแต่ปี 2551 และใช้ทดแทนยาเสพติด ในกลุ่มฝิ่น เฮโรอีน และอนุพันธ์ของสารเสพติด กลุ่มเดียวกันนี้

จุดเด่นของ เมธาโดน อยู่ตรงที่มีระยะเวลาออกฤทธิ์นานถึง 24 ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบ กับเฮโรอีน ที่มีระยะเวลาออกฤทธิ์เพียง 3-4 ชั่วโมง ดังนั้น เพียงแค่ให้ยาวันละครั้ง ก็จะลดอาการเสี้ยนยาได้ตลอดทั้งวัน และยังนำพาผู้เสพยาให้เข้ามาอยู่ในกระบวนการดูแล อีกทั้ง ยังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้ออันเกิดจาก การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันได้อีกด้วย

- 2 -

ข้อมูลจากรายงานของโครงการเอดส์ แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) กองทุนช่วยเหลือ เด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ตลอดจนคณะทำงานป้องกันเอดส์โลก พบว่าการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด เป็นการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับและถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีของผู้ใช้ ยาเสพติดที่ยังเลิกใช้ยาเสพติดไม่ได้ มีผลให้ลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ในกลุ่ม ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด และทำให้ผู้ใช้ยาเสพติด ได้เข้าถึงบริการบำบัดรักษายาเสพติดเป็นจำนวนมากขึ้น

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 500,000 คน จากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อฯรายใหม่ เป็น ผู้ติดเชื้อฯ จากการฉีดยาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 8.7 ของผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ทั้งหมด และ ในการติดตามแนวโน้มของการติดเชื้อฯ ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด พบว่าอัตราความชุก การติดเชื้อฯ ในช่วงปี 2543-2552 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 30-40 มาโดยตลอด

จากการคาดประมาณโดยหน่วยงานต่างๆ จำนวนผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดในประเทศ มีไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ด้วยอัตราการใช้เข็มและกระบอกฉีดร่วมกันที่สูงถึงร้อยละ 36 ในปี พ.ศ.2551 ทำให้คาดประมาณว่า มีผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ ที่เป็นผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดในปี 2553 จำนวนประมาณ 900คน นอกจากการ ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ผู้ฉีดยาเสพติดยังติด เชื้อโรคที่ติดต่อทางเลือดอื่นๆ ได้แก่ ไวรัส ตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัส ตับอักเสบ ซี ในอัตราสูงเช่นกัน

จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้เกิดแนวคิด ในการลดอันตรายของผู้ใช้ยา ภายใต้แนวคิด ที่ว่า ผู้ใช้ยาคือส่วนหนึ่งของสังคม การสนับสนุนให้ผู้ใช้ยาดูแลจัดการปัญหาตัวเองได้ ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เขาพัฒนาตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ในที่สุด "ตราบใดที่เราไม่สามารถขจัดปัญหา ยาเสพติดให้สิ้นซากไปจากสังคมไทย เราควรหันมายอมรับความเป็นจริงและพิจารณาว่า เราจะดูแลกลุ่มผู้ติดยา ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็คือผู้ป่วย ให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ ห่างไกลจากความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างไร" เจ้าหน้าที่ ศูนย์โอโซนฯ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ พื้นที่เมือง มีบริการให้ มาธาโดน อยู่ตามศูนย์อนามัยและคลินิกต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง แต่บนดอยสูง ที่ห่างไกล ความเจริญ อย่างดอยแม่สลอง ชาวบ้านย่อม เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ยากลำบากยิ่งกว่า ทั้งที่มีความเสี่ยงมากกว่า เพราะอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดของยาเสพติดโดยตรง ด้วยเหตุนี้ การจัดตั้งศูนย์แจกจ่ายเมธาโดน บนดอยแม่สลอง จึงเป็นทางออกที่ไม่น่ามองข้าม "แต่เราทำได้แต่เฉพาะคนที่ยินยอม เปิดเผยตัว และต้องการเข้าสู่กระบวนการบำบัดเท่านั้น" ประเสริฐ กล่าวถึงอุปสรรคที่พบ และเสริมว่า "จริงๆ แล้ว ตั้งแต่ทำงานมา ในพื้นที่นี้ เราคิดว่ายังไม่ถึงครึ่ง ยังมีคนที่ฝังตัวและไม่เปิดเผยตัวอีกเป็นจำนวนมาก สาเหตุหลักอีกประการหนึ่ง คือเรื่องของระยะทาง ความยากลำบากในการเดินทางมารับยา"

"เมื่อก่อนนี้ ยังไม่มีตัวชี้วัด แต่พอเราลงมาทำงาน ใช้กลไกเพื่อนช่วยเพื่อน มีอาสาสมัคร ลงไปสัมผัสผู้ติดยา ทำให้คนยอมรับ และ เปิดตัวมากขึ้น เพราะหลายคนยังกลัวเรื่องของกฎหมาย กลัวตำรวจ ตอนนี้ มีคนมาลงทะเบียน 120 คน แต่มารับบริการจริงๆ 70 กว่า ตัวเลขยังขึ้นๆ ลงๆ เพราะบางคนยังชั่งใจ เกรงว่า จะระยะยาวจริงมั้ย หรือให้แค่ไม่กี่วัน อย่าลืมว่า ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ใช้ยามานานหลายสิบปี หยุดยาก บางคนอายุ 60 กว่า ใช้มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น"

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงเป้าหมายของ การให้ "ลด ละ เลิก" ยา หรือที่เรียกว่ากระบวน ดีท็อกซ์ คือค่อยๆ ลดขนาดยาลง จนสามารถเปลี่ยนเป็น "น้ำ" ซึ่งติดตามมาด้วยกระบวนการบำบัดทางจิต แต่ ประเสริฐ มองว่างานในอีก ด้านหนึ่ง คือการดูแลผู้ติดยาเหล่านี้ที่ยังไม่สามารถเลิกยา เพื่อมิให้พวกเขาได้รับความเสี่ยง เพิ่ม นั่นก็คือการลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่นั่นเอง หากพิจารณาจากการทำงานในพื้นที่ บุคลากรที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนงาน ย่อมหนีไม่พ้น อดีตผู้ติดยาบางคนที่หันมาทำงานเป็น "อาสามัคร" ดังกรณีของ ล่าเอ๋อซึ่งใช้ฝิ่นและเฮโรอีนมานานกว่ายี่สิบกว่าปี ทว่า วันนี้ เขาสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัด แถมยังทำงานในแนวทาง "เพื่อนช่วนเพื่อน" อีกด้วย

"ผมอายุ 48 แล้ว ใช้ฝิ่นก่อนมาเปลี่ยนเป็นเฮโรอีนเพราะสะดวกกว่า แต่ตอนนี้ราคาแพงมาก ต่างกันราวฟ้ากับดิน เมื่อก่อน (หลอดหนึ่ง) หกสิบกว่าบาท ปัจจุบัน พันแปดร้อยบาท เลยตัดสินใจมาเป็นอาสาสมัคร รับเมธาโดน ซึ่งส่วนตัวมีแนวโน้มลดลง เพราะลดได้ทุกวัน ทำให้ไม่อยากยา อยู่ได้ แต่ต้องไม่เห็นนะ เพราะเห็นแล้ว ก็ทนไม่ไหว หรือวันไหน หากมีอะไรทำให้เครียด คิดไม่ออก ก็คิดถึงเหมือนกัน"

ล่าเอ๋อ เล่าว่า หน้าที่ของอาสาสมัคร คือคอยติดตามดูแลเพื่อนๆ ในชุมชน คนไหนป่วยหรือมีสุขภาพอย่างไร ไปเยี่ยม หรือไปให้คำแนะนำ พร้อมชี้ช่องทางให้ผู้ติดยายอม เปิดเผยตัว และเข้าสู่กระบวนการบำบัดในที่สุด

- 3 -

ปัจจุบัน ศูนย์โอโซน ดอยแม่สลอง ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลแม่จัน โดยมี พรพิมล ศักดิ์สูง เป็นแม่งานหลัก ที่ติดตาม ในเรื่องนี้มานานแล้ว

"ในการทำงาน ต้องมีการซักประวัติ ต้องมีความคุ้นเคยกันก่อน ว่าใช้ ฝิ่น หรือเฮโรอีน หรือใช้ผสมผสาน หากดูจากประวัติ ยังไม่แน่ใจ จะต้องมีการตรวจปัสสาวะด้วยเพื่อหาสารมอร์ฟีน ทีนี้ ก็มาถึงเรื่องของปริมาณที่ให้ ขึ้นอยู่กับว่าคนไข้ใช้ยามานานแค่ไหน ปริมาณเท่าไหร่ ฉีดหรือสูบ จากนั้น ก็จะมาปรับที่ยา คนไข้ที่ใช้ยามามากๆ ขนาดยาที่ให้ ก็ต้องสมดุลกับเขา การปรับยาจะอยู่ในระยะ 1-3 วัน โดยเน้นไม่ให้กลับไปใช้ยาเสพติด อีก จะดูว่ายังมีอาการอยากยาอยู่มั้ย"

หากในช่วง 1-3 วัน คนไข้มีอาการคงที่ ไม่มีอาการอยากยา และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ ถือว่าเป็นขนาดยาที่พอดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ความเข้มข้น ของยา ต้องไม่เกินหรือเป็นอันตรายต่อผู้เข้ารับ การบำบัดเป็นอันขาด

"ปกติ เมธาโดน จะคิดเป็นมิลลิกรัม จะอยู่ในช่วง 20-40 มิลลิกรัม โดยแต่ละขวด ความเข้มข้นจะต่างกัน 5 มิลลิกรัม แต่ตัวยาปริมาณจะให้เท่ากัน คือ 15 ซีซี ซึ่งมันเป็นผลด้าน จิตใจด้วย"

เภสัชกรหญิง พรพิมล อธิบายเพิ่มเติมว่า เมธาโดน เป็นสารที่ไปแทนที่ยาเสพติดก็จริง แต่ในการบำบัด จะมีการกำหนดคอร์ส เพื่อลดปริมาณยาลง โดยแบ่งไปตามอาการและความพร้อมของผู้ป่วย ตั้งแต่คอร์สระยะสั้น 45 วัน, 60 วัน, 90 วัน นานจนถึง 6 เดือน 1 ปี หรือนานกว่านั้น

"จริงๆ เราไม่สามารถบอกได้ว่า แต่ละคน จะใช้เวลาเท่าไหร่ กว่าจะหาย ต้องดูจากวัย ประวัติ และสิ่งแวดล้อม บางคนอาจจะไปเลิก ที่โน่นที่นี่มาหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จเสียที อันดับแรก ต้องอยู่กับเรานานๆ แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันไป"

"ตามกฎหมาย เมธาโดนเป็นยาเสพติด ต้องอยู่ในสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตเท่านั้น แต่เป็นข้อดีที่ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และทีมยาเสพติดของสสจ. รวมทั้ง ปปส. ได้มานั่งคุยกัน โดยพิจารณาว่า ในเขตพื้นที่เชียงราย เราคงไม่สามารถให้คนไข้มา สถานพยาบาลได้ตลอด จึงมีการนำยาเมธาโดน ออกมานอกสถานพยาบาล เป็นการรับทราบ ในระดับนโยบาย แต่เงื่อนไขคือ ต้องมีการควบคุม ต้องมีการคำนวณตลอดเวลาว่า นำออกมาใช้เท่าไหร่ และแน่นอนต้องไม่มียาหลุดออกไปนอกระบบเป็นอันขาด"

อย่างไรก็ตาม เภสัชกรหญิงยอมรับว่า มีโอกาสเสี่ยงเหมือนกัน ที่คนไข้จะหันมาติดยา ตัวนี้แทน ก็อยู่การประเมินข้อดีข้อเสียว่า ระหว่างให้คนไข้ กลับไปใช้ฝิ่น เฮโรอีน กับมาใช้ยาตัวนี้ ยาตัวไหนที่ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น กว่าเดิม ไม่เสี่ยงติดเชื้อ และไม่ต้องก่ออาชญกรรม เพื่อหาเงินไปซื้อเสพยาติด

"จนวันหนึ่งที่คนไข้พร้อม เขาบอกเรา เองว่า เขาจะลดแล้วนะ นั่นคือสัญญาณที่ดี เมื่อเราใช้กระบวนการบำบัดแบบนี้"

แนวทางดังกล่าว สอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดของศูนย์บริทิชโคลัมเบียเพื่อความเป็นเลิศ ด้านเอชไอวี/เอดส์ (BC-CfE) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ (TTAG) และโครงการวิจัยชุมชนมิตรสัมพันธ์ของประเทศไทย ที่พบว่า การทำสงครามกับยาเสพติดอันยาวนานของรัฐบาลไทย โดยมุ่งไปยังการคุมขังผู้ใช้ยาจำนวนมากนั้น ประสบความล้มเหลวในการหยุดยั้งการมีอยู่ของยาผิดกฎหมาย หรือการใช้ยาเหล่านี้ภายในประเทศ

"มันนานมากเกินไปแล้ว ที่ในการแก้ไขปัญหาที่รุนแรงของการใช้สารเสพติดนั้น พวกเราได้เน้นใช้แนวทางของการควบคุมตัวเพื่อการบังคับบำบัดมาโดยตลอด แต่การวิจัยนี้ รวมทั้งการวิจัยอื่นๆ ที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แนวทางนี้ใช้ไม่ได้ผล" จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตวุฒิสมาชิก กล่าว  "ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนจากการคุมขังผู้ใช้ยา แล้วหันมาลงทุนในโครงการบำบัดการติดสารเสพติด และโครงการลดอันตรายต่างๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เพื่อสนองความต้องการด้านการรักษาและ การดูแลของพวกเขา"

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 เมษายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง