ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พบปี 56 มีผู้ป่วยโรคไข้ฌลือดออกเสียชีวิตสูงที่สุดในรอบ 5 ปีแพทย์เตือน 9 สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าเด็กป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แนะให้ผู้ปกครองนำมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด พร้อมเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ตามน้ำ

ศ.คลินิก พญ.ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก) กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านโรคไข้เลือดออก กล่าวว่า  จากสถิติการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย พบว่าในปี 2556 คาดว่าจะมีอัตราการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกสูงและคาดจะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยจากการนับอัตราการป่วยของประชาชนไทยระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน รวมระยะเวลา 4เดือนพบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 24,000 รายและเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 28 ราย เฉลี่ยผู้เสียชีวิตสูงสุดต่อปีประมาณ 70-100 ราย โดยมีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เท่าๆ กัน และพบมากในช่วงอายุ 10-25 ปี โดยอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากโรคอื่นๆ โดยเด็กที่ได้รับเชื้อโรคจะมีอาการไข้สูงลอย 2-7 วัน มักไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกไหลเด็กเล็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก ทำให้ต้องดูแลเป็นพิเศษและรักษาเป็นกรณีพิเศษ อาจมีอาการปวด

ท้อง ถ่ายเหลว ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นแดงตามร่างกาย มีจุดเลือดออกตามผิวหนังเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟันผิดปกติหรือเด็กบางรายที่มีอาการรุน แรงมากอาจมีอาการช็อก ซึ่งสังเกตได้ยาก เนื่องจากยังรู้สติดีอยู่ แต่จะดูอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ข้อสังเกต คือ อาการช็อกจะตรงกับวันที่ไข้ลงหรือไข้ต่ำลง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเฝ้าสังเกตและพบเห็นอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นอาการนำของภาวะช็อกควรรีบนำตัวเด็กเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน

สำหรับ 9 อาการเร่งด่วน ที่ผู้ป่วยควรรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่

1. ไข้ลงหรือไข้ลดลงแต่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ อาทิ เบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย

2. คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา

3. ปวดท้องมาก

4. มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหลอาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ 

5. พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ

6. กระหายน้ำตลอดเวลา

7. ร้องกวนมากในเด็กเล็ก

8. ตัวเย็นชื้น สีผิวคล้ำลง หรือตัวเป็นลายๆ

9. ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4-5 ชั่วโมง

ศ.คลินิก พญ.ศิริเพ็ญ กล่าวว่า ไข้เลือดออกเกิดจากการที่มียุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด ยุงลายมักกัดเวลากลางวัน ต้องช่วยกันกำจัดยุงลาย โดยพ่นสารเคมี ซึ่งต้องให้ความระมัดระวัง การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจะง่ายกว่า แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย คือ ภาชนะที่มีน้ำขังที่อยู่ในบ้านหรือรอบๆ บ้าน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันและดูแลเด็กให้ห่างไกลโรคไข้เลือดออก สามารถป้องกัน แบบบูรณาการโดยดำเนินการควบคู่กันตั้งแต่ระดับตัวเอง อาทิใส่เสื้อผ้าแขนยาวและกางเกงขายาว หรือนอนหลับในห้องที่ติดมุ้งลวดมิดชิด ทาสารกันยุงที่ปลอดภัยเช่นตะไคร้หอม ระดับครัวเรือนควรกำจัดแหล่งน้ำขังตามสถานที่ต่างๆ อาทิอุปกรณ์ในครัวเรือนและอุปกรณ์ซักล้างควรคว่ำหรือปิดฝาให้เรียบร้อยเปลี่ยนน้ำรองขาโต๊ะหรือในแจกันทุกสัปดาห์ หรือผสมเกลือ หรือตรวจสอบรอบบริเวณบ้าน รางระบายน้ำบนหลังคาว่ามีแอ่งขังน้ำหรือไม่ และการป้องกันในระดับชุมชน ต้องร่วมมือกันในการรณรงค์กำจัดแหล่งน้ำขังภายในชุมชนปีละ 2-3 ครั้ง หรือพ่นยาฆ่าแมลงในเขตชุมชนปีละ 2-4 ครั้ง เป็นต้น

สำหรับผู้ใหญ่ใจดีที่สนใจร่วมบริจาคสมทบทุนสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 มหาราชินี  (ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคเด็ก)สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร 02- 640-9363 (เวลาราชการ) ,088- 874- 4671 หรือ088- 874- 4673

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันที่ 11 มิถุนายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง