ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 อนุมัติตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

2. ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน

3. ให้กระทรวงแรงงาน  โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ตกลงกับธนาคารในกำกับของกระทรวงการคลัง ในการจ่ายค่าธรรมเนียมอัตราพิเศษ สำหรับการรับเงินสมทบ และการโอนเงินสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน

4. อนุมัติหลักการให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมใช้เกณฑ์เงินสดในการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตน

5. อนุมัติหลักการให้เพิ่มกรอบอัตรากำลังจำนวน 293 อัตรา ให้แก่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพื่อการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล และอนุมัติหลักการกำหนดตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด (ตำแหน่งประกันสังคมจังหวัด) เป็น ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง

6. อนุมัติหลักการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ประกันตนมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ทางเลือกที่ 1 ทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 ต่อเนื่องไปจนกว่าร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะมีผลใช้บังคับ           

7. อนุมัติหลักการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงิน 165,000,000 บาท (หนึ่งร้อยหกสิบห้าล้านบาทถ้วน) เพื่อเตรียมการรองรับการดำเนินงาน

 

ข้อเท็จจริง

1. กระทรวงแรงงาน โดย สำนักงานประกันสังคม(สปส.)ได้ดำเนินการประกันสังคมมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนแรงงานนอกระบบที่สมัครใจเข้าเป็นผู้ประกันตน สามารถเลือกส่งเงินสมทบ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ 2 ทางเลือก จากนโยบายของรัฐบาลที่ประสงค์จะให้ประชาชนแรงงานนอกระบบมีการออม เพื่อเป็นหลักประกันรายได้เมื่อสูงอายุ ประกอบกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้มีสิทธิเงินบำเหน็จและบำนาญชราภาพแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนภาคบังคับที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการจะเริ่มได้สิทธิ ในเดือนธันวาคม 2556 แต่ผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบได้รับสิทธิเงินบำเหน็จชราภาพตามทางเลือกที่ 2 เพียงกรณีเดียว ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระหว่างผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จึงเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาฯ ให้สิทธิเงินบำนาญชราภาพ ตามความเหมาะสม แก่ผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ และเป็นไปตามข้อเสนอของประชาชนแรงงานนอกระบบ โดยการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เดิม และเพิ่มทางเลือกที่ 3 ในระบบประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งมีหลักการจัดเก็บเงินสมทบจาก 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประกันตนและรัฐบาลในอัตราเดือนละ 200 บาท (ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท/เดือน และรัฐบาลสมทบ 100 บาท/เดือน) เพื่อให้ได้รับสิทธิเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งจะส่งผลให้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต

2. ข้อเสนอแนวทางการดำเนินงาน

2.1 กลุ่มเป้าหมาย กำหนดให้ประชาชนทั่วไป เช่น เกษตรกร ผู้ขับรถรับจ้าง ค้าขาย หาบเร่ แผงลอย ฯลฯ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15-60 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และมีบทเฉพาะกาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ หากในวันที่ประชาชนสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ผู้ใดมีอายุเกิน 60 ปี ให้มีสิทธิเป็นผู้ประกันตนได้ และสามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เพื่อเป็นของขวัญให้แก่แรงงาน ซึ่งขาดโอกาสในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนในช่วงที่ประเทศประสบอุทกภัย สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้

2.2 สิทธิประโยชน์ มีการปรับปรุงเป็น 3 ทางเลือก และเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 ในปัจจุบัน ดังนี้ 

-  เพิ่มทางเลือกที่ 3 กรณีชราภาพให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเงินบำนาญชราภาพ

-  กรณีเจ็บป่วย โดยจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล จากเดิม ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป เป็นตั้งแต่วันแรกที่เป็นผู้ป่วยใน และเพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงิน  จากเดิมไม่เกิน 20 วันต่อปี เป็นไม่เกิน 30 วันต่อปี

-  กรณีตาย ให้สิทธิกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายเพียงจ่ายเงินสมทบ ครบ 1 เดือน ผู้จัดการศพหรือทายาทจะได้รับเงินค่าจัดการศพทันที

 

ทางเลือก

เงินสมทบ/คน/เดือน

สิทธิประโยชน์

รายละเอียด

   1       

100 บาท (สมทบจากผู้ประกันตน 70 บาทและจากรัฐบาล 30 บาท                                      

กรณีเจ็บป่วย

              

เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป วันละ200 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน (บริการทางการแพทย์ใช้สิทธิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

กรณีทุพพลภาพ               

เงินทดแทนการขาดรายได้ระหว่างเดือนละ 500 บาท ถึง 1,000 บาท เป็นระยะเวลา  15 ปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินสมทบ)

กรณีตาย                   

เงินค่าทำศพ 20,000 บาท (กรณีถึงแก่ความตายจ่ายเงินสมทบเพียง 1 เดือน)

   2       

150 บาท (สมทบจากผู้ประกันตน 100 บาท และจากรัฐบาล 50 บาท)

เช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 และเพิ่มเงินบำเหน็จกรณีชราภาพ

จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ ประกอบด้วยเงิน สมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย และผลประโยชน์ตอบแทนรายปี คืนให้แก่ผู้ประกันตน เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน  

 

3

200 บาท (สมทบจากผู้ประกันตน 100 บาทและจากรัฐบาล 100 บาท)

ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีชราภาพเท่านั้น

- ผู้สมัครต้องมีอายุ 15-60 ปีบริบูรณ์  (มีบทเฉพาะกาลในปีแรก ผู้อายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป มีสิทธิสมัครและจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้)

- ประโยชน์ทดแทน 1 กรณี คือ กรณีชรา  ภาพ โดยผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จหรือ บำนาญตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ เมื่ออายุ     ครบ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

 

ทั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีทางเลือก ได้แก่ เลือกชุดที่ 1 หรือ ชุดที่ 2 หรือ ชุดที่ 3 อย่างใดอย่างหนึ่ง เลือกชุดที่ 1 และ 3 หรือเลือกชุดที่ 2 และ 3                                                  

3) การรับขึ้นทะเบียน สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานหลักในการรับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน โดยขอความร่วมมือให้หน่วยงานช่วยดำเนินการรับสมัครสมาชิก ดังนี้

-  ธนาคารในกำกับของกระทรวงการคลัง รับสมัครลูกค้าของธนาคารและประชาชนทั่วไป

-  กระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 รับสมัครประชาชนทั่วไป และสมาชิกของกองทุนภายใต้กำกับ รวมทั้งขอความร่วมมือมอบหมายให้เป็นภารกิจของกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วย

-  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  รับสมัครสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ ในความดูแล

-  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับสมัครจากสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน

4) การรับเงินสมทบจะใช้ช่องทางของสำนักงานประกันสังคมเป็นหลัก และเครือข่ายบริการประกันสังคมมาตรา 40 ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ห้างเทสโก้โลตัส และธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ที่สนใจจะเข้าร่วมดำเนินงาน โดยกระทรวงแรงงานขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการรับเงินสมทบจากประชาชนและนำส่งสำนักงานประกันสังคมด้วย

5) การรับสิทธิประโยชน์ ประชาชนผู้ประกันตนมาตรา 40 มีช่องทาง ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์โดยตรง ณ สำนักงานประกันสังคม และขอความร่วมมือธนาคารในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านดำเนินการตามภารกิจนี้ด้วย ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้ดำเนินการวินิจฉัยสิทธิประโยชน์ ตามที่กฎหมายกำหนด และ

 3. กระทรวงแรงงาน มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการรับสมัครประชาชนแรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ภายใน 45 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของผลประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับ

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1.  กำหนดนิยามคำว่า “เงินบำเหน็จชราภาพ” และ “เงินบำนาญชราภาพ”

2.  เพิ่มเติมการจ่ายเงินสมทบเพื่อประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ

3.  กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกจ่ายเงินเพื่อรับประโยชน์ทดแทนได้

4.  แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 8/1 ขอรับประโยชน์ทดแทนได้

5.  แก้ไขเพิ่มเติมทดแทนขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

6.  แก้ไขเพิ่มเติมการจ่ายเงินสมทบเพื่อประโยชน์ทดแทนกรณีตาย

7.  เพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนที่เลือกสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 8/1 ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เป็นเงินบำนาญชราภาพ

8.  แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 8/1 ได้รับบำนาญตลอดชีวิตและการคำนวณเงินบำนาญชราภาพให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

9.  แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดอัตราเงินสมทบระยะเริ่มแรกที่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 8/1 จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน

10. เพิ่มเติมให้ผู้ที่อายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้   

 

ที่มา : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 มิถุนายน 2556