ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอวิทิต"เปิดเกมโต้กลับเตรียมฟ้องทั้งคดีปกครอง อาญาและทางแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 31 ล้านบาท เอาผิดยกแผง ทั้งรมว.สธ. ประธานบอร์ดองค์การเภสัช และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ด้านนพ.พิพัฒน์ยันการเลิกจ้างหมอวิทิตทำถูกต้องเป็นระบบ ขณะที่หมอประดิษฐ ยันไม่กลัวถูกฟ้อง ห่วงหากเรื่องถึงศาล คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯไม่สามารถเรียกดูเอกสารที่เกี่ยวข้องได้

นพ.วิทิต  อรรถเวชกุล  อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มิ ย. ที่ผ่านมา ตนและทีมที่ปรึกษากฎหมาย และผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมรวม ทั้งผู้แทนเครือข่ายความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ได้ประชุมหารือข้อกฎหมาย และได้ผลสรุปว่า มีข้อมูลและหลักฐานภายในที่ชัดเจน พร้อมที่จะฟ้องเอาผิดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะรัฐมนตรีทั้งคดีทางปกครอง เพื่อให้ถอนมติ ครม. และคุ้มครองฉุกเฉิน ฟ้องคดีอาญามาตรา 157 ในฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

นอกจากนี้ยังจะฟ้องหมิ่นประมาท นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม และนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุขที่ให้ข่าวกล่าวร้ายทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งจะฟ้องคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 31 ล้านบาท

"เพื่อปกป้องระบบยาของประเทศ ปกป้ององค์การเภสัชกรรมของรัฐ และปกป้องศักดิ์ศรีของคนทำงาน สัปดาห์หน้าจะยื่นฟ้องคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม รมว.สาธารณสุข และคณะรัฐมนตรีทั้งคดีปกครอง อาญาและทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 31 ล้านบาท เพื่อเป็นตัวอย่างเอาผิดกับการใช้อำนาจรัฐและเครื่องมือของรัฐ โดยไม่เป็นธรรมไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล" นพ.วิทิตกล่าว และว่า ตนถูกกลั่นแกล้ง ทำลายชื่อเสียงเพื่อยึดครองระบบยาของรัฐ จึงจำเป็นต้องฟ้องเอาผิดเพื่อให้ศาลยุติธรรมได้ทำความจริงให้ปรากฏ ให้คนผิดได้ถูกลงโทษ

ด้าน นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในวันนี้ทางชมรมแพทย์ชนบทได้ออกแถลงการณ์ว่า นพ.ประดิษฐ ได้บิดพลิ้วไม่ทำตามข้อสรุปของการหารือเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาลที่สรุปให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีการทำลายภาพพจน์องค์การเภสัชกรรม และปลดผู้อำนวยการโดยมิชอบ

"การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบิดพลิ้วไม่ทำตามข้อตกลงที่ทำเนียบ แต่กลับเฉไฉไปตั้งคณะทำงานของกระทรวงและองค์การเภสัชกรรม ให้เป็นผู้ให้ข้อมูลและให้ข่าวอนุญาตให้กลุ่มคนที่เครือข่ายความเป็นธรรมด้านสุขภาพเสนอชื่อ ให้มีหน้าที่เพียงรับฟังข้อมูลจากคณะทำงานที่ตนตั้งขึ้นเท่านั้น ถือเป็นการบิดเบือนข้อตกลง และเป็นการให้ข่าวที่ไร้วุฒิภาวะ ขาดความน่าเชื่อถือ" อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

ขณะที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การเลิกจ้างอดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมทำเป็นระบบ มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง นำเข้าพิจารณาในบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ซึ่ง 12 คนลงมติเป็นเอกฉันท์ ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนำเข้า ครม. จึงเชื่อมั่นในหลักฐาน พยานและเหตุผล โดยการเลิกจ้างเพราะบริหารบกพร่องทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งสามารถชี้แจงได้

 "เรามีเหตุผลในการเลิกจ้าง ข้อสำคัญประเด็นความเสียหายบอร์ดองค์การเภสัชกรรมจะตั้งคณะกรรมการละเมิดขึ้นมาพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากอดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ไม่เฉพาะกรณีวัตถุดิบพาราเซตามอลและโรงงานวัคซีนเท่านั้น ยังมีประเด็นอื่น เช่น กรณียาโคลพิโดเกรล และโอเซลทามิเวียร์ ถ้าตรวจสอบแล้วพบความเสียหายก็ต้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม หมอวิทิตก็มีสิทธิ์ ต่างคนก็ต่างใช้สิทธิ์ ถ้าใช้สิทธิ์ไม่ถูกต้อง เช่น ฟ้องอาญา ก็หลักการทั่วไปเมื่อฟ้องเขาได้ก็มีสิทธิ์ถูกฟ้องกลับได้ การกล่าวหาคนอื่นถ้าไม่จริงก็ต้องเตรียมที่จะรับการถูกฟ้องกลับ "นพ.พิพัฒน์ กล่าวและว่าในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ ได้นัดคณะกรรมการตรวจสอบการเลิกจ้าง นพ.วิทิต และคณะกรรมการชี้แจงไปดูข้อมูลเอกสารทั้งหมดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เตรียมดำเนินการฟ้องร้อง รมว.สาธารณสุข ประธานบอร์ด อภ. และบอร์ดอภ. ทั้งคณะ เพื่อปกป้องระบบยาของประเทศ และปกป้องศักดิ์ศรีของคนทำงาน ว่า ตนพูดมาตลอดว่าการฟ้องร้องเป็นสิทธิของ นพ.วิทิต ที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะถูกนพ.วิทิต ฟ้องร้อง ก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องกลับเช่นเดียวกัน ต้องดูว่าใส่ร้าย หมิ่นประมาทอย่างไรเพราะเรื่องนี้ตัดสินด้วยข้อมูล หลักฐานที่ประจักษ์อยู่แล้ว ทั้งนี้ ไม่อยากให้เอามาผูกโยงกับเรื่องระบบยาของประเทศเพราะเป็นคนละเรื่อง เพราะการตัดสินยกเลิกสัญญาจ้างนั้นเป็นเรื่องของการบกพร่องต่อหน้าที่

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนเป็นห่วงว่าหากมีการฟ้องแล้ว ข้อมูลต่างๆ จะไม่สามารถเปิดเผยได้อีกต่อไป เพราะเป็นเรื่องของคู่กรณี เป็นอำนาจศาล ดังนั้นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบกระบวนการยกเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิต ที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่สามารถเรียกดูเอกสารที่เกี่ยวข้องได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 มิถุนายน 2556