ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีข่าวสารหนึ่งที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรและการค้นคว้าวิจัยจากฝีมือคนไทย และได้รับความนิยมในวงกว้างจนมีกระแสข่าวในด้านลบมากมาย ทั้งเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง หรือไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวตามที่กล่าวอ้างสรรพคุณ รวมทั้งมีของปลอมเลียนแบบที่ใช้ชื่อคล้ายกัน

ที่กำลังกล่าวถึงนี้คือ ครีมยี่ห้อหนึ่งที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จภายใต้ชื่อทางการค้าว่า "ลองกานอยด์"!

ใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่นำมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างมากคือ การสกัดสารจากเมล็ดลำไยนำมาผลิตเป็นครีมรักษาโรค ใช้สำหรับเป็นยารักษาหลายอาการ เช่น ข้อเข่าเสื่อมและข้อติด ตลอดจนใช้นวดให้กับผู้มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต

ครีมลองกานอยด์นี้ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดอย่างสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จึงเกิดกระแสข่าวด้านลบตามที่กล่าวมาข้างต้น

ดังเรื่องของการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากทางองค์การอาหารและยา ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมากล่าวว่า "การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ "ลองกานอยด์" ที่โฆษณาว่าเป็นสารสกัดจากเมล็ดลำไย ไม่ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย. เพียงแต่พบจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ทาและนวดผิวกาย ทั้งนี้ การที่นำมาโฆษณาอวดสรรพคุณในทางยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อมถือว่าเป็นการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง เพราะตามกฎหมายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและเพื่อความสวยงามเท่านั้น หากเป็นยาต้องมีการขึ้นทะเบียนตำรับยา และมีหลักฐานการศึกษาวิจัยที่น่าเชื่อถือมาประกอบการพิจารณาสนับสนุนการใช้ในสรรพคุณที่กล่าวอ้าง รวมทั้งการโฆษณาสรรพคุณยาทางสื่อต่างๆต้องขออนุญาตโฆษณาอย่างถูกต้องตามกฎหมายยา มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย"

จะว่ากันตามตำราแล้ว นพ. บุญชัย สมบูรณ์สุข ก็ไม่ได้กล่าวผิดแต่อย่างใด คือการวิจัยใดที่มีผล ในทางการใช้เป็นยา หรือหากมีวัตถุประสงค์พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นยา ควรที่จะขอจดทะเบียนตำรับยากับองค์การอาหารและยาให้ถูกต้อง และองค์การอาหารและยาก็มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการผลิตยาจากสมุนไพรอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยที่มีข้อมูลน่าเชื่อถือ ดังตัวอย่างของครีมจากไพล พริก บัวบก พญายอ และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นกัน

ถ้าเป็นเช่นนี้จะเป็นการดีต่อผู้บริโภคที่จะได้ใช้สมุนไพรในประเทศที่คิดค้นโดยคนในประเทศ และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อไป

แต่หลายๆเรื่องสำหรับการค้นคว้าวิจัยที่มีประโยชน์ในประเทศไทยกลับไม่ได้รับความคุ้มครองหรือสนับสนุนจากคนไทย และคนในชาติยังมัวแต่ถกเถียงกันไปมา เลยกลายเป็นโอกาสให้ต่างชาติได้ใช้ช่วงเวลาตรงนี้ครอบครองผลงานนั้นๆ

สารสกัดจากเมล็ดลำไยนี้ก็เช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสข่าวว่าญี่ปุ่นได้ชิงตัดหน้าไปจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศเกี่ยวกับสารประกอบที่เป็นตัวยา ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นกรณีศึกษาที่รัฐบาลกับฝ่ายผู้เกี่ยวข้องควรจะติดตามแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน!

เมื่อหลายปีมาแล้วเราคงจำได้ว่าประเทศไทยเคยเสียรู้เกี่ยวกับสมุนไพรเปล้าน้อยที่มีสารในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งถือเป็นสมุนไพรชั้นเลิศเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่แล้วก็ถูกญี่ปุ่นเอาไปจดสิทธิบัตร โดยเป็นการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับตัวยา แต่ต้องถือว่าสมุนไพรไทยถูกลักไก่ไป?

ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่เราเสียรู้คล้ายๆกัน แม้กระทั่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมาเรายังเคยถูกญี่ปุ่นเอาสูตรแกงกะหรี่ไทยไปจดสิทธิบัตรเป็นมรดกอาหารญี่ปุ่น จนกระทั่งกลายเป็นที่โต้เถียงว่าแกงกะหรี่นั้นเป็นของญี่ปุ่นหรือของไทยหรือของประเทศไหนกันแน่ แม้กระทั่งอินเดียยังอ้างว่าเป็นตำรับของตัวเอง!?

เขียนเรื่องนี้มาก็เพื่อจะติงรัฐบาลเอาไว้ว่าอย่าปล่อยให้ลองกานอยด์ ซึ่งเป็นสารสกัดจากเมล็ดลำไย อันถือเป็นสมุนไพรและภูมิปัญญาของคนไทยถูกลักไก่และล้วงตับไปจดสิทธิบัตร จนกระทั่งเราอาจจะสูญเสียประโยชน์ตรงนี้ไป หลายวันก่อนเห็นกระทรวงวัฒนธรรมมีแนวความคิดที่จะเอาเรื่องผ้าขาวม้าไปจดทะเบียนเป็นมรดกทางปัญญาของชาติ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบแล้วเรื่องของสารสกัดจากเมล็ดลำไยดูจะมีคุณค่าและประโยชน์มากกว่า ไหนๆสนใจเรื่องผ้าขาวม้าแล้วก็ควรจะสนใจเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

เพราะขืนปล่อยไปประเดี๋ยวจะเจ็บกระดองใจเหมือนเปล้าน้อยเปล่าๆ! ไม่ว่าจะกระทรวงไหนก็เป็นข้าราชการเหมือนกัน จึงน่าจะสื่อสารกันได้ง่าย เราจึงน่าจะคิดถึงประโยชน์ของชาติมากกว่านะครับ

"ลองกานอยด์" ไม่ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย. เพียงแต่พบจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ทาและนวดผิวกาย"

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้  วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง