ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาษาลาวที่แตกต่าง มักจะถูกตลกคาเฟ่นำมาล้อเลียนเป็น เรื่องขบขัน แต่ในพื้นที่ชายแดนนั้น คำพูดที่ดูเป็นเรื่องตลก กลับเป็นคำพูดต้องที่นำมาใช้จริงในชีวิต เมื่อชาวลาวตั้งเข็มมุ่งมาหา การรักษาพยาบาลที่ดีกว่าในฝั่งไทย

ความแออัดคับแคบของ "โฮงหมํ" หรือโรงพยาบาลของ สปป.ลาว ที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่มากขึ้นทุกวัน และคุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ไม่พร้อม และระบบสาธารณสุขที่เชื่องช้า โดยโรงพยาบาลแห่งใหญ่ที่สุดในนครหลวงเวียงจันทน์ คือโรงพยาบาลมโหสถ เป็นโรงพยาบาล 2 ชั้น ประกอบด้วย 31 วอร์ด 450 เตียงที่ต้องรับมือกับประชากร กว่าสามแสนคน ประสบการณ์ของผู้เขียนที่มีญาติอยู่ฝั่งลาวกับระบบ โรงพยาบาลลาวคือ เมื่อ "ปาด" (ผ่าตัด) แล้ว ตรวจซ้ำแพทย์ได้อ่านฟิล์มเอกซเรย์ว่าเป็นเนื้องอก แต่เมื่อข้ามมาตรวจที่ฝั่งไทย พบว่าเป็น ผ้าก๊อซที่แพทย์ลืมทิ้งไว้ในช่องท้อง อีกทั้งเมื่ออาการกำเริบหนัก ขอส่ง ตัวผู้ป่วยมายังไทย กลับไม่มีรถฉุกเฉินให้เนื่องจากเป็นวันหยุดและนอกเวลาราชการ ต้องหารถส่วนตัวพากันข้ามด่านมาเองเป็นที่ทุลักทุเลในกลางดึก

ส่งผลให้ประชาชนชาวลาวที่พอมีเงิน มีช่องทาง หรือเก็บหอมรอมริบได้ ขอมา "ปัวพะยาด" (รักษาโรค) ที่ฝั่งไทยมากกว่าจะเสี่ยงชีวิตรอคิวรักษาอยู่ฝั่งลาว

สถิติคนลาวที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทย จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) พบว่า ในปี 2549 ชาวลาวเข้ามารับการรักษาพยาบาลในเขตจังหวัดหนองคายและอุดรธานีแต่ละปีมีจำนวนมากถึง 15,000 คน ซึ่งบางส่วนกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐขนาดเล็ก ในขณะที่ก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญของโรงพยาบาลรัฐขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนด้วย มีข้อมูลน่าสนใจว่า ชาวลาวนิยมมาฝากครรภ์และทำคลอดในโรงพยาบาลไทยและมาตรวจสุขภาพ ทั่วไปรวมถึงการตรวจสุขภาพเพื่อขอวีซ่าไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูขึ้น ซึ่งช่วยบรรเทาภาระการเรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐได้

ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สมเด็จพระยุพราช ท่าบ่อ ซึ่งมีชื่อเสียงเฉพาะทางด้านการรักษาโรคนิ่วและถุงน้ำดี ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อมีผู้ป่วยชาวลาวเข้ามารักษาเพิ่มขึ้นทุกปี โดยตั้งแต่ พ.ศ.2553-2556 มีผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 5,000 คน เป็นผู้ป่วยในเฉลี่ย 580-600 ราย เฉลี่ยผู้ป่วยชาวลาวจ่ายค่ารักษา คนละ 25,000 บาท เป็นเงินเข้าโรงพยาบาลปีละ 18 ล้านบาท ส่วนมากเข้ารักษาด้านศัลยกรรม นพ.วัฒนายังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คนลาวนั้นไม่ใช่คนรวยเข้าโรงพยาบาลเอกชนทุกคน คนลาวระดับกลาง-ล่าง ที่ต้องการบริการทางการแพทย์ที่ดีก็จะมายังโรงพยาบาลรัฐของไทย ซึ่งค่าบริการถูกกว่า เอกชนถึงหนึ่งในสาม แต่โรงพยาบาลรัฐก็ยังได้กำไรจากค่าบริการส่วนนี้อยู่ จึงไม่ควรมองว่าคนลาวมาใช้งบประมาณสวัสดิการของไทยเพียงอย่างเดียว ซึ่งรายได้จากผู้ป่วยชาวลาวดังกล่าว นพ.วัฒนาได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ท่าบ่อ ให้สะอาดและทันสมัยไม่แพ้โรงพยาบาลเอกชนได้อย่างน่าชื่นชม

ทางสถานพยาบาลเอกชนซึ่งเล็งเป้าหมายไปยังกลุ่มเศรษฐีลาวเองก็เกิดการแข่งขันอย่างหนักหน่วง โดยขึ้นป้ายโฆษณาเป็นภาษาลาวที่ด่านสะพานมิตรภาพและตามริมทาง รวมถึงการโฆษณาผ่านวิทยุชุมชนหนองคายที่รับฟังได้ในนครหลวงเวียงจันทน์ ภายในโรงพยาบาลก็เพิ่มป้าย แผ่นพับใบปลิว และออกใบเสร็จรับเงินเป็นภาษาลาวและอังกฤษควบคู่กันไปรวมถึงการ จัดรถพยาบาลพร้อมรับส่งที่ด่านเพื่ออำนวยความสะดวกทุกทางแก่ลูกค้า

การป่วยไข้ของผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของระบบสาธารณสุขไทย ที่บุคลากรทางการแพทย์และภาครัฐต้องเตรียมตัวรับมือไว้ให้พร้อมเพื่อป้องกันปัญหาและสร้างผลประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 10 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--