ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : โรคโปลิโอเป็นโรคร้ายแรง ทำลายเซลล์ประสาทและก่ออาการอัมพาตถาวรในมนุษย์ที่เคยระบาดและสร้างความเสียหายต่อชีวิตของผู้คนบนโลกนี้มามากมาย ในต้นศตวรรษที่ 20 มีผู้ป่วยเป็นโรคโปลิโอถึงขั้นเป็นอัมพาตกว่า 2,500,000 คนต่อปี แม้กระทั่ง แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาผู้นำพาชาติสัมพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สอง ยังต้องพ่ายแพ้ต่อโรคโปลิโอในช่วงบั้นปลายของสงคราม กล่าวกันว่า นอกจากระเบิดนิวเคลียร์แล้ว สิ่งที่ ชาวอเมริกันในทศวรรษที่ 1950 หวาดกลัวที่สุดคือ โรคโปลิโอ

ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อกำจัดโรคโปลิโอให้หมดไปจากสังคมซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยพบว่าแต่ละปี มีรายงานผู้ติดเชื้อโปลิโอเพียง 200 รายจากประชากรทั่วโลก การกำจัดโรคโปลิโอทำได้โดยการให้วัคซีนแก่เด็กตั้งแต่ยังเป็นทารก และให้ซ้ำอีกสองครั้งเมื่อถึงกำหนดเวลา

แต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ใน สปป.ลาว พบการติดเชื้อโปลิโอชนิดใหม่ซึ่งดื้อวัคซีน และมีการพบการระบาดต่อเนื่องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์มีผู้ป่วยแล้วถึง 7 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย ทำให้รัฐบาลลาวต้องออกประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและแจ้งเตือนไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกอย่างเร่งด่วน

การระบาดของเชื้อโปลิโอในลาวครั้งนี้ เกิดขึ้นที่หมู่บ้านชนบทในสองแขวง คือเมืองบอลิคัน แขวงบอลิคำไซ และเมืองฮอม แขวงไซสมบูน ซึ่งพบว่าอัตราการรับวัคซีนโปลิโอ อยู่ในระดับต่ำมาก และการให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กอาจกระทำโดยขาดความระมัดระวัง ไม่เก็บรักษาวัคซีนไว้ในสภาพที่เหมาะสม รวมถึงภาวะสุขอนามัยในชุมชนที่ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้วัคซีนโปลิโอแบบหยอด (Oral Polio Vaccine: OPV) ซึ่งมาจากเชื้อโปลิโอที่อ่อนแอ หมุนเวียนอยู่ในสภาพแวดล้อมจนกลายพันธุ์ (vaccine-derived poliovirus) กลับมาก่ออาการต่อระบบประสาทขึ้น และพบการระบาดจากคนสู่คนไปยังผู้ใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่ในเด็กที่ได้รับวัคซีน

ซึ่งองค์การอนามัยโลกแสดงความผิดหวังและเป็นกังวลต่อการตอบสนองในเรื่องการเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอจากชนิดหยอด (OPV) มาเป็นชนิดฉีด (IPV) ของลาวว่าล่าช้าและขาดประสิทธิภาพอย่างมาก สถานการณ์ล่าสุด บ่งชี้ว่ายังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ และข้อมูลข่าวสารจากทางการลาวไม่แน่ชัดเพียงพอ

เหตุการณ์นี้บ่งชี้ชัดว่า สภาพการสาธารณสุขใน สปป.ลาว ยังอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง ความแพร่หลายของการให้ความรู้ด้าน สุขอนามัยยังย่ำแย่ รวมถึงขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถอยู่มาก หลักฐานที่ชี้ชัดประการหนึ่งคือ จำนวนชาวลาวที่ข้ามมาใช้บริการทางการแพทย์ในฝั่งไทยตลอดแนวชายแดน ทั้งที่จ่ายค่ารักษาและไม่จ่ายค่ารักษามีมากถึงกว่า 180,000 รายต่อปี

ภาวะขาดแคลนบุคลากรและความบกพร่องด้านสาธารณสุขดังกล่าว จะเป็นปัญหาอย่างยิ่งเมื่อการเคลื่อนย้ายแรงงานและผู้คนเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้นหลังการเปิด AEC โรคโปลิโอกลายพันธุ์ระบาดใหม่นี้ถือว่าเป็นโรคที่ป้องกันและกำจัดได้ง่าย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเคยได้รับวัคซีนโปลิโอมาก่อนในวัยเด็กแล้ว โอกาสแพร่ระบาดข้ามประเทศจึงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าหากเกิดโรคระบาดอื่นที่มีความรุนแรงมากกว่าและแพร่กระจายได้เร็วกว่า โดยระบบสาธารณสุขของ สปป.ลาว ไม่สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที ประกอบกับนโยบายการปิดข่าวของพรรครัฐ อาจทำให้โรคร้ายอุบัติใหม่ติดต่อกระจายรุนแรงได้ในเวลารวดเร็ว

ดังนั้น หากจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปทำธุรกิจหรือพำนักใน สปป.ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแขวงชนบทห่างไกลนครหลวงเวียงจัน จำเป็นต้องได้รับวัคซีนโปลิโอแบบฉีด (IPV) ก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือกลายเป็นพาหะโดยไม่ตั้งใจ รวมถึงผู้ที่พำนักอยู่ในลาวตามพื้นที่เกิดการระบาด ก็ควรได้รับวัคซีนโปลิโอก่อนออกจากประเทศลาวเช่นเดียวกัน

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 24 ก.พ. 2559 (คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง