ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์กรลูกแห่งแรกของ สวรส. ที่ก่อกำเนิดและเติบโตจนมีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุขทุกวันนี้ คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดิมงานด้านสร้างเสริมหรือส่งเสริมสุขภาพ อยู่ในกรมอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ทำหน้าที่รับความรู้และเทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามาสู่ประเทศไทย ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุข เช่น การสอนให้คนไทยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ การรักษาความสะอาดโดยการใช้สบู่ซักผ้าและถูตัว การให้สุขศึกษาเพื่อป้องกันโรคระบาด

มีคำกลอนที่มีชื่อเสียงในการต่อสู้กับอหิวาตกโรค คือ "อหิวาต์กำเริบ ล้างมือก่อนเปิบด้วยน้ำประปา ผักดิบผักสด งดเสียดีกว่า หากใช้น้ำท่า จงต้มเสียก่อน อาหารหวานคาว เมื่อกินทุกคราว เลือกแต่ร้อนร้อน น้ำคลองต้องค้าน อาหารสำส่อน จำไว้ใคร่สอน กินให้ดีเอย"(ประพันธ์โดย "ครูเหลี่ยม") งานวางแผนครอบครัวก็ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

ต่อมา ปัญหาสาธารณสุขทวีความยากและซับซ้อนมากขึ้นๆ เพราะโรคที่เป็นปัญหาของประชาชนเปลี่ยนจากโรคติดเชื้อที่แก้ได้ด้วยยาวัคซีน และการปรับพฤติกรรมอย่างง่ายๆ ไปเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ยากและซับซ้อนขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศ การลดการบริโภคของที่มีรสอร่อย เพิ่มการออกกำลังกาย ลด ละเลิก สิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ เหล้า ซึ่งล้วนเป็นเรื่องยากเช่น เรื่องเหล้าพระพุทธเจ้าเทศนาสั่งสอนมากว่า 2,500 ปีแล้ว เหล้าก็ยังเป็นปัญหาในทุกสังคม รวมทั้งสังคมพุทธ

ปัญหา "สุขภาพ" เหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนว่าลำพังกระทรวงสาธารณสุขย่อมไม่สามารถแก้ไขได้ จำเป็นต้องขยายวงให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือทำหน้าที่ เช่น เรื่องอุบัติเหตุทางถนนกระทรวงสาธารณสุขจะรับหน้าที่ตรงปลายเหตุคือการรักษาพยาบาลเป็นหลัก ขณะที่ปัญหาดังกล่าว จุดสำคัญอยู่ที่การป้องกัน

ผู้มีส่วนสำคัญที่มองเห็นปัญหานี้ และทำงานผลักดันอย่างต่อเนื่องจนเกิดสสส. คือนพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ซึ่งพื้นฐานเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ เริ่มต้นจากการดูแลรักษาผู้ป่วยจำนวนมากที่ป่วยเพราะการสูบบุหรี่ จนในที่สุดก็ขยายบทบาทจากการรักษามาสู่การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

จากประสบการณ์เรื่องบุหรี่ทำให้ นพ.ประกิต ได้รู้จักกับองค์กรด้านสุขภาพในบางประเทศ เช่น ในบางรัฐของออสเตรเลียและสหรัฐที่เก็บ "ภาษีบาป" คือภาษีบุหรี่มาทำกุศลและรณรงค์เรื่องบุหรี่โดยเก็บภาษีส่งตรงให้หน่วยงาน ไม่ต้องให้หน่วยงานไปของบประมาณจากรัฐสภาตามระบบปกติ ซึ่งย่อมถูกขัดขวางจากธุรกิจบุหรี่ ทำให้งบประมาณถูกตัดทอนหรือถูกบีบจนทำงานไม่ได้

ประสบการณ์ดังกล่าวได้นำมา "ต่อยอด"ใน 2 ส่วน คือ 1) ขยายภาษีบาปจากบุหรี่เป็นเก็บจากเหล้าด้วย ผู้ที่สมควรต้องบันทึกไว้ณ ที่นี้ว่า เป็นผู้เสนอแนวคิดอันเป็นกุศลยิ่งนี้คือ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และ2) ให้นำภาษีบาปมาทำงานเรื่องสุขภาพโดยรวมไม่ทำแค่เรื่องบุหรี่และเหล้าเท่านั้นในฝ่ายกระทรวงการคลังผู้ที่มีส่วนสำคัญในการยอมให้กฎหมายนี้ผ่านออกมาคือ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลัง และนายพิสิฐ ลี้อาธรรมรมช.คลัง ในที่สุดรัฐสภาก็ผ่านพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อพ.ศ. 2544 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร โดยบุคคลในรัฐบาลที่มีส่วนผลักดันสำคัญคือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ต้องชื่นชมคณะกรรมการและผู้บริหารสสส.ชุดแรก ที่ได้วางรากฐานการทำงานไว้อย่างดี ทำองค์กรให้มีขนาดกะทัดรัด เพื่อมิให้เงินไป"จม"อยู่กับค่าใช้จ่ายด้านบริหาร เงินส่วนใหญ่จะได้ไปสู่ประชาชน ปัจจุบัน สสส.ดูแลเงินงบประมาณปีละกว่า 3,000 ล้านบาท โดยมีเจ้าหน้าที่เพียงร้อยเศษ ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มีโครงการต่างๆ ทั้งสิ้นกว่า 12,000 โครงการและมีภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมองค์กร หน่วยงานต่างๆ ทั้งพระและฆรา วาสร่วมทำโครงการต่างๆ กว่า 12,000 ภาคี

ขณะเดียวกัน ก็มีข้อกล่าวหาต่อ สสส. ว่าเป็น"ท่อน้ำเลี้ยง" ให้แก่องค์กรที่ต่อต้านทักษิณ ข้อกล่าวหานี้มีมาตั้งแต่ครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นนายกรัฐมนตรี จนมีความคิดจะยุบ สสส. หรือควบรวม

สสส.เข้าไปอยู่ใน สปสช. โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะประธาน สสส.โดยตำแหน่งเคยไปประชุมคณะกรรมการและเสนอความคิดนี้ด้วยตนเอง แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงแล้วความคิดนี้ก็จบไป ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบแล้วจะพบว่าบางองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และมีกิจกรรมที่ "ไม่เอาทักษิณ" นั้น มีอยู่จริง แต่ก็เป็นกิจกรรมอิสระขององค์กรเหล่านั้น มิใช่กิจกรรมในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. และความจริงแล้วก็มีหลายองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และมีกิจกรรมในส่วนอื่นที่สนับสนุนทักษิณฉะนั้นประเด็นนี้จึงต้องพิจารณาอย่างแยกแยะ ไม่ควรเหมารวม

อีกหนึ่งข้อกล่าวหาก็คือ สสส.สนับสนุนภาคีที่เป็น "พรรคพวก" ในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ก็ไม่เป็นความจริง ทุกปี สสส.ต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และต้องถูกตรวจสอบโดย สตง. ซึ่งสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ได้อย่างกระจ่างทั้งสิ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 กรกฎาคม 2556