ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความสำเร็จของ สสส. เป็นที่ประจักษ์นอกจากแก่สายตาประชาชนคนไทย ยังได้มีการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกแล้วสองครั้งครั้งแรกหลังดำเนินการได้ 5 ปี มีทีมประเมินจากหน่วยงานระดับโลก ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก และจากสหราชอาณาจักรผลสรุปออกมาเป็นเอกสารเล่มหนึ่ง ซึ่งทีมผู้ประเมินตั้งชื่อว่า"ประโยชน์มากมาย แก่ประชาชนมากมาย" (Many Things to Many People) ต่อมามีการประเมินรอบที่สอง โดยทีมงานจากองค์กรระดับโลก คือ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ และผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้บริหารขององค์กรแบบ สสส. ในออสเตรเลีย ผลสรุปก็เป็นการชื่นชมในความสำเร็จอย่างสูงของสสส.

ความสำเร็จของ สสส. ขจรขจายไปไกลจนหลายประเทศขอมาศึกษาดูงาน และขอให้สสส.ไปเป็นพี่เลี้ยงในการก่อตั้งองค์กรอย่างสสส.ขึ้นในประเทศ เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้เวียดนาม ลาว ตองกา มองโกเลีย เป็นต้น

การที่ สสส.สามารถทำงานจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเช่นนี้ หัวใจสำคัญเกิดจาก สสส.ได้สร้าง "นวัตกรรมการบริหาร" ขึ้น นั่นคือ 1) มุ่งการทำงานกับภาคี แทนการสร้างอาณาจักรของตนเองดังกล่าวแล้ว 2) มุ่งทำงานเชิงรุก แทนการทำงานเชิงรับ นั่นคือ ประสบการณ์จากกองทุนอื่นๆและการทำงานของ สสส.เอง ในปีแรกที่รอให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ เขียนโครงการมาขอทุน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ สสส. และเป็นการทำงานเป็นชิ้นๆ(Piece Meal) สสส. เปลี่ยนมาทำงานเชิงรุกโดยการทำแผนยุทธศาสตร์ กำหนดทิศทางและแผนงานที่ควรทำ แล้วเป็นฝ่ายรุกเข้าไปเชิญชวนภาคีมาทำงาน แทนการนั่งเป็น "เถ้าแก่"รอคนมาขอเงินไปใช้ 3) หัวใจสำคัญ คือการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างแท้จริง นั่นคือ นอกจากการทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้แล้ว ต้องมุ่งผลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

สสส.ทำงานอย่างมีพลวัต โดยการทำแผนหลักระยะ 3 ปี และปรับแผนทุกปี (Rolling Plan) เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างฉับไวทันการณ์

กรณีตัวอย่างของระบบธรรมาภิบาล เช่น มีการบีบบังคับทำโครงการ "เมืองไทยแข็งแรง"จากผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุข โดยตั้งงบประมาณถึง 500 ล้านบาท แต่ สสส.มีระบบการทบทวนโครงการ (Review) โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ในที่สุดโครงการนี้อนุมัติวงเงินเพียง50 ล้านบาทเท่านั้น โครงการเดียวกันนี้มีการบีบบังคับขอเงินไป "เปิดตัว" โครงการที่สวนลุมพินีถึง 6 ล้านบาท โดยการทำโครงการแบบเร่งรัด เชิญนายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานแล้วแจ้ง สสส.ในระยะเวลากระชั้นชิดเพื่อให้ต้อง "ยอม" จ่ายเงินไปให้ออร์แกไนเซอร์ทำแต่โดยดี แต่ สสส.ไม่ยอม และใช้เวลาที่มีเพียง 2 วัน ทำพิธีเปิดงานโดยราบรื่นโดยใช้เงินเพียง2 ล้านบาท

อีกตัวอย่าง มีการขอเงินไปสร้างสระว่ายน้ำถาวร 18 สระ ในจังหวัดหนึ่ง เป็นเงิน 540 ล้านบาท โดยอ้างเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาเด็กจมน้ำตาย โดยการสอนเด็กว่ายน้ำ สสส.ทำโครงการทดแทน โดยสร้างสระว่ายน้ำชั่วคราว 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) ขุดสระแล้วเอาผ้าพลาสติกกรุแทนสระว่ายน้ำถาวร 2) ใช้เหล็กฉากทำโครงแล้วใช้ผ้าพลาสติกกรุ เมื่อเด็กในหมู่บ้านว่ายน้ำเป็นหมดแล้วก็ถอดโครงเหล็กไปทำในหมู่บ้านอื่นต่อไป3) ทำสระแบบกระชังในแม่น้ำลำคลองใกล้หมู่บ้าน โดยให้ชุมชนดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองจนสะอาดเพื่อให้ลูกหลานลงไปเรียนว่ายน้ำได้ ข้อสำคัญคือต้องมีการบริหารจัดการ และมีครูสอนว่ายน้ำมาสอน วิธีการดังกล่าวสามารถสอนเด็กได้ 45,000 คน ใน10 จังหวัดที่มีเด็กจมน้ำตายสูงสุด โดยใช้เงินเพียงปีละ 7.5 ล้านบาท

 ตัวอย่างลักษณะนี้มีมากมาย สสส.สามารถรักษาเงินที่ได้รับมาให้ทำประโยชน์อย่างแท้จริงป้องกันการทุจริตฉ้อฉลได้ เพราะ สสส.แยกตัวออกไปจากกระทรวงสาธารณสุข มีกรรมการมาจากหลายหน่วยงานมาช่วยกันดูแล และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการสรรหามาอย่างดี นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เพียงเป็นประธานกรรมการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นเพียงรองประธานกรรมการคนที่หนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนการใช้อำนาจของรัฐมนตรีในฐานะเจ้ากระทรวง

ถ้าเงินก้อนนี้บริหารโดยกระทรวงสาธารณสุข ย่อมไม่มีทางจะสร้างสัมฤทธิผลดังที่ปรากฏ เพราะเงินจะเสมือนเข้าไปอยู่ในกล่องดำ (Black Box) ที่แทบไม่มีทางจะตรวจสอบได้ เงินจะใช้ไป "ตามอำเภอใจ" และรั่วไหลได้มาก โดยยากจะหาข้าราชการที่กล้าออกมาทักท้วง เมื่อถูกเปิดโปงหรือจับได้ก็จะหาทางกลบเกลื่อนจนเอาผิดใครไม่ได้"ยาแรง" อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาก็ไร้ผล

ขณะนี้ สสส.กำลังถูกคุกคาม โดยมีความพยายามจะเปลี่ยนวิธีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งควรจะมาเป็นหูเป็นตาดูแลเงินของประชาชน แต่มุ่งจะให้ได้คนที่ "สั่ง" ได้เข้ามาแทน ในส่วนของข้าราชการที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ย่อมยากที่จะหวังพึ่งพาได้ เพราะมีการบังคับสั่งการผ่านผู้มีอำนาจจากต้นสังกัดทุกหน่วย มิให้ "แข็งขืน" งานนี้ถ้าทำสำเร็จสสส.ก็จะไม่สามารถรักษาสถานภาพเป็นองค์กรอิสระภาครัฐไว้ได้ แต่จะถูกควบคุมสั่งการเหมือนกระทรวง ซึ่งเป็นส่วนราชการอันล้าสมัย

ปัจจุบันเงิน สสส.ทั้งหมดใช้เพื่อการบริหารเพียงส่วนน้อย กว่าร้อยละ 90 ไปสู่ภาคีเครือข่ายทั้งหมด แต่เมื่อไม่นานมานี้ผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุขเรียกผู้บริหาร สสส.ไปสั่งการว่าเงิน สสส.จะขอไปใช้ 60% ให้ สสส.ใช้แค่ 40% ก็แปลว่าเงินที่เคยไปสู่ประชาชนผ่านภาคีเครือข่ายต่างๆ กว่าร้อยละ 90 จะเหลือเพียงร้อยละ 30 เศษๆ เท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2556