ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 2 "มหกรรมตำบลฟันดี" เพื่อพัฒนาวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปากและระบบบริการทันตสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ หวังแก้ปัญหาเด็กไทยฟันผุ...

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 56 นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ปี 2556 “มหกรรมตำบลฟันดี” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น โฮเทล กรุงเทพมหานคร ว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนไทยในทุกกลุ่มวัยยังคงมีแนวโน้มที่สูง ขณะที่การเข้าถึงบริการยังมีข้อจำกัด สุขภาพช่องปากที่ดีมีผลต่อระบบร่างกายของทุกคนและทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กปฐมวัยจะมีผลต่อพัฒนาการสมวัย หากป้องกันปัญหาโรคฟันผุและเหงือกอักเสบในวัยเด็กได้ โอกาสที่จะเกิดปัญหาของโรคในช่องปากในวัยที่สูงขึ้นน่าจะลดลง ซึ่งสาเหตุของโรคในช่องปากประเด็นหลักมาจากขาดการทำความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ และจากพฤติกรรมการบริโภคที่มีสิ่งจูงใจจากการโฆษณาทางสื่อต่างๆ การแก้ปัญหาให้ได้ผล จึงต้องขยายขอบเขตการทำงานโดยบูรณาการร่วมกับงานสุขภาพอื่นๆ อย่างเป็นองค์รวม

นพ.ธีรพล กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทานในกลุ่มผู้สูงวัย โครงการยิ้มสดใสเด็กไทยฟันดี ดำเนินการตรวจสุขภาพช่องปากและเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กวัยเรียน ลดการบริโภคหวาน (น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ) ของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน อีกทั้งดำเนินโครงการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากภายใต้กองทุนทันต กรรมในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยใช้มาตรการสื่อสารสาธารณะ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมตั้งแต่เด็ก ภายใต้ชื่อโครงการ “ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก” และมุ่งเน้นพัฒนากลไกการเผยแพร่ความรู้ที่สอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินงาน ระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ รวมถึงจัดการความรู้เพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากของเด็กก่อนวัยเรียนในระดับตำบล ภายใต้แนวคิด “ตำบลฟันดี”

นพ.ธีรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของคนไทย โดยกรมอนามัย ล่าสุดปี 2555 พบว่า เด็กวัยเรียนมีปัญหาโรคฟันผุอยู่มาก โดยพบเด็กอายุ 12 ปี หรือประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสบการณ์เกิดโรคฟันผุ ถึงร้อยละ 52.3 ซึ่งปัญหาฟันผุในเด็กมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก ที่นิยมกินอาหาร หรือขนมที่หาซื้อได้ง่าย เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาฟันผุในเด็ก ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด การติดเชื้อ และสร้างปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร ซึ่งมีผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพของเด็ก ที่สำคัญคือมีผลกระทบต่อการเรียน ทำให้เด็กหยุดเรียน และปัญหาฟันผุ ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียฟันในวัยเด็ก ยังอาจสะสมจนกลายเป็นการสูญเสียฟันทั้งปากในวัยสูงอายุตามมา

“การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีวิชาการระดับชาติให้แก่ทันตบุคลากรและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสุขภาพช่องปากให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ได้นำเสนอผลงาน หรือโครงการนวัตกรรมระดับจังหวัด อำเภอ และระดับตำบล ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยเกิดความตระหนัก และมีพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองและครอบครัวอย่างเหมาะสม” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว.

ที่มา: http://www.thairath.co.th