ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วอนขอสนับสนุนกายอุปกรณ์สำหรับคนพิการแทน จะเป็นผลดีมากกว่าหัวหน้าศูนย์แพทย์ทหารบก เผยหน่วยงานรัฐเสนอบริจาควัคซีนใกล้หมดอายุแสนโดสให้ทหารใต้ แต่ไม่ได้รับ เหตุคนรับวัคซีนมีน้อย แถมตัดพ้อน้อยใจไม่น่าใช้ทหารเป็นเครื่องฟอกวัคซีน วอนขอสนับสนุนกายอุปกรณ์สำหรับคนพิการแทน คาดตอนนี้วัคซีนถูกทำลายแล้ว

พ.อ. (พิเศษ) นพ.โชคชัย ขวัญพิชิต หัวหน้าศูนย์แพทย์ทหารบก จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นปี 2556 ได้รับการประสานงานว่าจะมีการบริจาควัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ หรือวัคซีนป้องกันโรคหัด (measles) โรคคางทูม (mumps) และโรคหัดเยอรมัน (rubella) จำนวน 1 แสนโดสให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งซึ่งใกล้หมดอายุแล้ว แต่ทหารไม่ได้รับมา

พ.อ. (พิเศษ) นพ. โชคชัย กล่าวว่า เหตุผลที่ไม่รับวัคซีนนี้ เพราะ 1.จำนวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีจำนวนน้อย และ ต้องหาผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งมีปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติในพื้นที่อันตราย และมีเวลาจำกัด 2.จำนวนทหารที่มีอยู่ประมาณ 3 หมื่นคน แต่มีการปฏิบัติงานในพื้นที่ทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งกลางวัน กลางคืน ไม่สามารถนำทหารเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินการเป็นคราวละเป็นร้อยคน

การดำเนินการฉีดวัคซีน จึงไม่ทันต่อห้วงเวลา หากผู้ใดมีปฏิกิริยาต่อวัคซีน อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพงานรักษาความปลอดภัย ลาดตระเวน จนอาจส่งผลเสียหายยิ่งใหญ่ได้ 3.งานด้านการแพทย์ทหาร จะมีอุปกรณ์เข็ม ไซริงจ์ สำหรับการบริหารวัคซีนจำนวนจำกัด อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดหาเข็ม และ ไซริงจ์ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ก่อนวันหมดอายุ

พ.อ.(พิเศษ) นพ.โชคชัย กล่าวต่อว่า แม้สามารถแก้ไขตามข้อ 1-3 ข้างต้น แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการเก็บในพื้นที่ ซึ่งมีความลำบาก และขาดแคลนอยู่แล้ว จึงประสานขอปฏิเสธไม่รับวัคซีน ด้วยเห็นผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งได้รับการตอบตกลง และระงับการส่งวัคซีนลงในพื้นที่ รวมถึงไม่มีการดำเนินการด้านเอกสารใดๆ ด้วย ต่อมาตนได้ทราบว่าทางผู้ใหญ่ของหน่วยงานรัฐดังกล่าวได้ประชาสัมพันธ์กับสาธารณชนว่าได้มอบวัคซีนให้ กอ.รมน.เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1 แสนโดส

"ผมน้อยใจนิดหนึ่งทหารก็เสี่ยงอยู่แล้วไม่น่าจะเอาเขามาเป็นเครื่องมือในการฟอกวัคซีน และทหารก็ไม่ได้รับ ในฐานะเจ้าของภาษีผมเสียดายวัคซีนดังกล่าว ดังนั้นอยากขอความอนุเคราะห์อย่าได้จ่ายมาให้ทหารภาคใต้เลย ผมได้ตรวจสอบประชาชนในพื้นที่แล้วที่จะต้องฉีดวัคซีนจริงๆ เหลืออีกไม่มาก ถ้าควานหาเต็มที่คงไม่ถึง 1,000 คน" พ.อ.(พิเศษ) นพ.โชคชัย กล่าว และว่า

"จากการที่ผมและทีมแพทย์ทหารเข้าไปสัมผัสประชาชนในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่สีแดง ประชาชนยังขาดโอกาสมากมาย โดยเฉพาะสิทธิของผู้พิการเรื่องกายอุปกรณ์ บางครั้งรถเข็นเสียรอถึง 6 เดือนหรือเป็นปี น่าสงสาร เพราะอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้ก่อเหตุรุนแรง จึงไม่ได้รับการดูแลเฉกเช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่อื่น วัคซีน 1 แสนโดสถ้ากลายเป็นค่ากายอุปกรณ์ผมจะขอบคุณมาก"

เมื่อถามว่าปกติมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และหัดเยอรมัน ให้กับทหารหรือไม่ พ.อ.(พิเศษ) นพ.โชคชัย กล่าวว่า ปกติวัคซีนนี้จะฉีดให้กับเด็ก หรือหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งการฉีดต้องดูอายุครรภ์ด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าขณะนี้ วัคซีนดังกล่าวน่าจะต้องถูกทำลายแล้วเพราะวัคซีนน่าจะหมดอายุไปแล้ว ซึ่งหากนำเงินจำนวนนี้มาปรับสู่ประชาชนในพื้นที่ จะส่งผลดีในเชิงกลับกันอย่างมาก ทั้งด้านคุณภาพชีวิต สุขภาพ และความมั่นคงของชาติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 กรกฎาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง