ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งเตรียมบริจาควัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และ หัดเยอรมัน จำนวน 1 แสนโดส ให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แต่ค่ายทหารยังไม่รับวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากเกรงจะฉีดให้ทหารไม่ทันเวลาหมดอายุว่า วัคซีนรวมดังกล่าว เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดในเด็กอายุ 9 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้ง เมื่อเข้าชั้นประถม

"อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้แนะนำให้รัฐจัดหา เพื่อฉีดให้กับเด็กมานานแล้ว แต่วัคซีนดังกล่าวมักขาดแคลน เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ผลิตได้ยาก หากปีใดบริษัทยาผลิตได้น้อย จะเกิดความขาดแคลนในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เพราะสัดส่วนการขายวัคซีนจะถูกกระจาย ไปที่กลุ่มประเทศร่ำรวยที่มีกำลังซื้อก่อน ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้น้อยได้รับสิทธิซื้อในราคาต่ำกว่า แต่สัดส่วนที่จะแบ่งให้กับประเทศกลุ่มเหล่านี้จะน้อยตามไปด้วย" นพ.จรุงกล่าว และว่า ปัจจุบันการกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติลดลง เพราะมีการใช้วัคซีนพื้นฐานอย่างทั่วถึง ดังนั้น จึงพบการระบาดในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีการอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัย ค่ายทหาร ฯลฯ หากฉีดในค่ายทหารได้ก็ถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงการการระบาดของโรคด้วย

นพ.จรุงกล่าวถึงประเด็นวัคซีนใกล้หมดอายุว่า ต้องทำความเข้าใจว่า ยาและวัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการคำนวณช่วงเวลาที่แน่นอน ดังนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนจะยังคงมีอยู่จนวันสุดท้ายที่กำหนดไว้ว่าเป็นวันหมดอายุ และจากนั้นจะค่อยๆ เสื่อมลง ไม่เหมือนกับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารที่ความสดใหม่จะค่อยๆ ลดลงหลังการปรุงเสร็จ

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่จะตรวจสอบรายละเอียด

ด้านแหล่งข่าวกล่าวว่า เดิมการจัดซื้อวัคซีนเป็นหน้าที่ของ สปสช. ประสานกับกรมควบคุมโรคในการจัดหา และกระจายให้กลุ่มเป้าหมาย แต่ปี 2554 มีการเปลี่ยนแปลงให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดซื้อและกระจายแทน สำหรับวัคซีนที่กระจายให้กับค่ายทหารนั้น เชื่อว่าเป็นล็อตที่อยู่ในช่วงรอยต่อกระบวนการจัดซื้อ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 31 กรกฎาคม 2556