ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่ได้รับงบประมาณ "ก้อนโต" จากโครงการตามนโยบาย "รักษาฟรี" ของรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จนกระทั่งเกิด สปสช.ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เป็นเวลายาวนานถึง 27 ปีงบประมาณก้อนนี้บริหารโดยกระทรวงสาธารณสุขมาโดยต่อเนื่องหลังเกิด สปสช.แล้วกฎหมายยังกำหนดบทเฉพาะกาลให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บริหารเงินก้อนนี้ต่อไปอีก 3 ปีก่อนถ่ายโอนไปให้ สปสช.อย่างเต็มตัว

น่าเสียดายที่ตลอดระยะเวลา 27 ปี ที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลงบประมาณก้อนนี้อยู่กระทรวงสาธารณสุขแทบจะไม่ได้พัฒนาระบบงบประมาณส่วนนี้ให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นเลย ช่วงปีแรกๆที่ได้รับงบประมาณตามโครงการนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีสภาพเหมือน "ขอทานถูกหวย"เพราะไม่เคยนึกเคยฝันว่าจะได้งบประมาณมากมายขนาดนั้น เมื่อผู้เขียนเข้ารับราชการใหม่ๆโรงพยาบาลระดับอำเภอได้รับงบประมาณค่ายาและเวชภัณฑ์ปีละ 1 หมื่นบาทเท่านั้นงบดังกล่าวนับว่าเพิ่มอย่าง "ก้าวกระโดด" มาแล้วเพราะก่อนหน้านั้นไม่นานงบประมาณได้กันเพียงแห่งละ 5,000 บาทต่อประชากรราว 5 หมื่นถึง1 แสนคนในแต่ละอำเภอ

งบประมาณจาก "รัฐบาลคึกฤทธิ์" แบ่งเพิ่มให้โรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐทั่วประเทศแล้ว ยังเหลือเงินก้อนโต กระทรวงสาธารณสุขต้องพยายามใช้ให้หมด โดยนำไปซื้อเครื่องเอกซเรย์แจกโรงพยาบาลอำเภอ และตั้งเครือข่ายวิทยุของกระทรวงเอง ทำเป็นโครงการรักษาพยาบาลทางวิทยุ

การจัดสรรงบประมาณในช่วงแรก ใช้วิธี"หารแบ่ง" ให้ตามขนาดของโรงพยาบาล ทำให้งบประมาณก้อนนี้ไปเสริม "ความไม่เป็นธรรม"ในระบบสุขภาพโดยปริยาย เพราะในชนบทห่างไกล ยังไม่มีโรงพยาบาล หรือเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก จึงไม่ได้งบประมาณหรือได้งบประมาณน้อย

ในด้านคุณภาพบริการ แม้จะเปลี่ยนจาก"คนไข้อนาถา" มาเป็น "การสงเคราะห์" และต่อมาขยายไปยัง "บุคคลที่ควรช่วยเหลือเกื้อกูล"ประชาชนที่ใช้สิทธินี้ก็ยังมีสถานะเสมือนเป็นคนไข้อนาถาอยู่นั่นเอง โรงพยาบาลหลายแห่งแยกสีใบสั่งยาของแพทย์สำหรับคนไข้กลุ่มนี้โดยเฉพาะ และจัดทำบัญชีรายการยาไว้ให้อย่างจำกัดจำเขี่ย ท่าทีการให้บริการในหลายกรณีก็ยังเป็นอย่างที่อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขเคยวาดภาพไว้ คือ "หน้างอ รอนาน บริการไม่ดี วจีเชือดเฉือน" และผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่านท่านหนึ่งเคยกล่าวถึงการให้บริการในโครงการนี้ว่าผู้ให้บริการบางคนมองคนไข้เหล่านี้เหมือน "เปรตมาขอรับส่วนบุญ" คนไข้จำนวนมากไปถึงโรงพยาบาลแล้วถูก "ไล่กลับ" ให้ย้อนกลับไปขอรับใบส่งตัวจากสถานีอนามัยมาก่อน

ในส่วนของการใช้งบประมาณ ก็มีความพยายามจะ "หาเศษหาเลย" จากงบประมาณก้อนนี้ นำไปซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นหรือราคาแพงเพื่อเอาเปอร์เซ็นต์

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่เข้ามาดูแลงบประมาณก้อนนี้ในช่วงหลัง พยายามแก้ปัญหาอุดรูรั่วด้วยวิธีการต่างๆ ที่สำคัญคือไปขอให้กระทรวงการคลังออกเป็น "ระเบียบกระทรวงการคลัง" ตั้งคณะกรรมการที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมดูแลงบประมาณก้อนนี้ ที่ต้องออกเป็นระเบียบกระทรวงการคลัง ไม่เป็นระเบียบกระทรวงสาธารณสุขก็เพื่อให้แก้ไขยากขึ้น เพราะถ้าจะแก้ไขต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ขอแก้ไข ระเบียบนี้กลายเป็น "ก้างขวางคอ" ทำให้ "โกง" ยากขึ้น จนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนหนึ่งเรียก นพ.สงวน ไปต่อว่าว่าออกระเบียบนี้มาทำไม พร้อมข่มขู่จะ "เล่นงาน" นพ.สงวน

ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อพ.ศ.2540 รัฐมนตรีสาธารณสุขไปของบประมาณมาเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้มา 1,400 ล้านบาท มาเจอระเบียบนี้เข้า จึงต้องไปหาทางเปลี่ยนหมวดเงิน เพื่อไม่ให้ต้องผ่านคณะกรรมการตามระเบียบนี้ แต่ก็ทิ้งร่องรอยต่างๆ ไว้จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวผลที่สุดรัฐมนตรีสาธารณสุขต้องติดคุก ซึ่งครั้งนั้นภาคประชาชนที่ออกมาเปิดโปงทุจริตผนึกกำลังกันเข้มแข็งมาก สื่อมวลชนก็ยังมีสถานะเป็น"สื่อมวลชน" ที่แท้จริง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขออกมายืนยันว่าไม่มีการทุจริตและตั้งกรรมการขึ้นมา "ฟอก" ทุจริต แต่สุดท้ายก็ฝืนกระแสสังคมที่ "ยังเข้มแข็ง" ในขณะนั้นไม่ได้

นพ.สงวน ผู้ผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีประสบการณ์อันขมขื่นในกระทรวงสาธารณสุขอย่างยาวนาน ถูกกลั่นแกล้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใน "เรื่องไม่เป็นเรื่อง"จากผู้มีอำนาจที่ต้องการแก้แค้นนพ.สงวน จึงตระหนักชัดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแยกระบบบริหารเงินกองทุนออกไปจากกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุขยังมีบทบาทสำคัญ เพราะยังเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลทั่วประเทศ ตามหลักการแยก "ผู้ซื้อบริการ" (Purchaser) ออกจาก"ผู้ให้บริการ" (Provider)

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถพัฒนาให้เกิดทั้ง1) ความเป็นธรรม 2) คุณภาพ และ3) ประสิทธิภาพ ข้อสำคัญคือลดโอกาสการทุจริตคอร์รัปชั่นลง เพราะเงิน "หลุด" ไปจากมือ "ฝ่ายบริหาร" ในกระทรวงสาธารณสุข ไปอยู่ภายใต้ "คณะกรรมการ" ของ สปสช.แทนโดยยังให้อำนาจแก่กระทรวงสาธารณสุขเพราะคณะกรรมการของ สปสช.มีประธานคือรัฐมนตรีสาธารณสุข และมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการคนหนึ่งด้วย นอกนั้นเป็นตัวแทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกรรมการที่เหลือมาจากนอกส่วนราชการ ได้แก่ตัวแทนองค์กรวิชาชีพ 4 คน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 คน ตัวแทนภาคประชาชน 5 คน และ "ผู้ทรงคุณวุฒิ" อีก 7 คน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถสั่งการเกี่ยวกับเงินก้อนนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเหมือนเดิม และกลายเป็น "หนามตำใจ" ผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุขมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ช่วงตั้ง สปสช.ใหม่ๆ มีงบประมาณสร้างระบบไอที 200 ล้านบาท นพ.สงวน "ได้กลิ่น"ว่าผู้มีอำนาจต้องการ "งาบ" เงินก้อนนี้ จึงไม่อยาก "เปลืองตัว" เข้าไปขัดขวาง อ้างว่ายังเพิ่งตั้งสำนักงานใหม่ จึงให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้เองกระทรวงรีบ "ตะครุบ" แล้วก็เกิดการทุจริตฉาวโฉ่จริงๆ เพราะโดน นพ.สงวน ดัดหลัง ตั้งคณะอนุกรรมการ 8 ชุด ตรวจรับอย่างเข้มงวดช่วงแรกๆ ที่ "ส่งมอบงาน" จึงไม่มีรายการใดตรวจรับได้เลย ผลสุดท้ายงานนี้ "กินไม่ลง"ต้องคาย

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 สิงหาคม 2556