ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. เกิดขึ้นจากแนวคิดในการ"ปฏิรูประบบสุขภาพ" ใน 3 เรื่องใหญ่ได้แก่1) เปลี่ยนจากการมุ่ง "ซ่อมสุขภาพ" เป็น"สร้างสุขภาพ" 2) ขยายขอบเขตงานจาก"สาธารณสุข" เป็นเรื่อง"สุขภาพ" โดยรวม3) เปลี่ยนกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจากการจัดทำโดยภาครัฐเป็นการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของภาคประชาชน

ในเรื่องของการเปลี่ยนจุดเน้นจากซ่อมเป็นสร้างสุขภาพ เกิดจากพื้นฐานของสุภาษิตที่มีมาแต่โบราณว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" แต่การพัฒนาสาธารณสุขที่ผ่านมาทุ่มเทไปที่งาน "ปลายเหตุ"คือ การรักษาพยาบาลมากกว่าการสร้างเสริมและป้องกัน สาเหตุใหญ่เกิดจากงานเรื่องนี้อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็น "กระทรวงหมอ" ทำให้วิชาชีพแพทย์ซึ่งเน้นที่การเยียวยารักษามากกว่า นำพาคนทั้งปวงไปสู่ทิศทางดังกล่าว เมื่อระบาดวิทยาของโรคเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน (Epidemiological Transition)เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากปัญหาสภาพแวดล้อมพฤติกรรม และ "พยาธิวิทยาสังคม" (Social Pathology) จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนจุดเน้น

ผู้ที่เสนอ "วาทกรรม" คำว่า "สร้างนำซ่อม"คือ คุณกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้น ประกอบกับแนวคิดเรื่อง"สุขภาพ" ที่ต้องให้ความสำคัญทั้งสุขภาพของบุคคล(Individual Health) และสุขภาพของสาธารณะ(Public Health) ในที่สุดจึงเกิด "สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ" (สปรส.) ขึ้น เป็นหน่วยงานภายใต้ สวรส. โดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับเพื่อการขับเคลื่อนงาน

ความคิดเรื่องการขยายงานจาก"สาธารณสุข" เป็นสุขภาพนี้เกิดขึ้นอีกครั้งตอนปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการ เมื่อปีพ.ศ.2545 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสมัยนั้นยังรักคำว่า "สาธารณสุข" และเห็นว่าคำคำนี้ครอบคลุมเรื่องสุขภาพของบุคคลอยู่ด้วยแล้วกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยจึงยังคงชื่อไว้ตามเดิมไม่เปลี่ยนเป็นกระทรวงสุขภาพเหมือนนานาประเทศทั่วโลก

เมื่อแรกตั้งสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพคาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี ผลักดันจนเกิดกฎหมายขึ้น แต่เมื่อทำจริงต้องใช้เวลารวม 7 ปี กับ 5 วัน จึงสำเร็จ เพราะเกิดแรงเสียดทานขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเมื่อมีข้อเสนอว่าบริการสุขภาพต้องไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าทำให้กลุ่ม "แพทย์พาณิชย์" ออกมาต่อต้านอย่างแข็งขัน จนกฎหมาย "สะดุด" ไปหลายปีเพราะประเทศไทยเลือกแนวทางให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้นมานาน ในที่สุดกฎหมายก็ออกมาจนได้ เมื่อวันที่3 มี.ค. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่19 มี.ค. 2550

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้เกิดการปฏิรูปใน 4 เรื่องใหญ่ๆได้แก่ 1) มีการกำหนดเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพไว้รวม8 เรื่อง2) มีการกำหนดกลไกเรื่องสมัชชาสุขภาพ ซึ่งส่งเสริมบทบาทภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ3) มีการกำหนดให้จัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ 4) มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย 3 ภาคส่วน คือ ตัวแทนภาครัฐ ภาควิชาการและภาคประชาชน

ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพมีตั้งแต่สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ สิทธิของผู้หญิง คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสต่างๆ สิทธิในข้อมูลด้านสุขภาพ สิทธิในการรับแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองกรณีเป็นอาสาสมัครวิจัย และสิทธิที่จะแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต

เรื่องที่ก้าวหน้ามากที่สุดคือ สิทธิที่จะร้องขอให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ(Health Impact Assessment หรือ HIA)จากนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นสิทธิอันสำคัญที่ส่งเสริมให้การพัฒนาต่างๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพ ไม่สามารถมองแต่ผลด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น

ในเรื่องสมัชชาสุขภาพก็เป็นกลไกสำคัญเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมสำคัญในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ "ผูกขาด" ของภาครัฐอย่างที่แล้วๆ มาช่วงของการก่อรูปและผลักดันกฎหมาย มีการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพมาโดยต่อเนื่องและหลังมีกฎหมายแล้วได้พัฒนารูปแบบสมัชชาให้เป็นแบบสากลจนเข้มแข็ง และเป็นที่ชื่นชมในระดับนานาชาติ นอกจากสามารถเสนอมติบนฐานความรู้และการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและเป็นระบบแล้ว ยังเป็นการสร้าง "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" อย่างมีพลัง จนเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในประเทศก็ได้ใช้กลไกสมัชชา คือ"สมัชชาปฏิรูป" ในการศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนวทางการปฏิรูปไว้อย่างเป็นระบบ แม้มติต่างๆ จะไม่ได้รับการตอบสนองจากอำนาจรัฐอย่างที่ควรจะเป็น องค์ความรู้ และประสบการณ์ของทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็จะมีประโยชน์แก่การแก้ปัญหาของประเทศในอนาคต

ในเรื่องธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ แม้ในระดับชาติจะยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่ในระดับท้องถิ่นก็มีการใช้กลไกนี้ในการสร้างธรรมนูญของชุมชนและท้องถิ่นอย่างมีความหมายบ้างแล้ว

ในส่วนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติการที่ในส่วนของภาครัฐมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน และมีรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีกำหนดอีกไม่เกิด 5 คน มาร่วมเป็นกรรมการ และยังมีตัวแทนภาครัฐอีก 2 องค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมของประเทศ คือประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน ตัวแทนองค์กรวิชาชีพรวม8 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน และผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรอีก 13 คน โครงสร้างดังกล่าวทำให้กลไกกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศเป็นกลไกระดับชาติอย่างแท้จริง ไม่เป็นเรื่องเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป

สช.เกิดมา 6 ปีเศษ สามารถสร้าง "วาทกรรม" ทางสุขภาพได้อย่างมีพลังประชาชนเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพอย่างกว้างขวาง ถ้างานนี้ยังอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนจะไม่มี "พื้นที่" หรือเป็นเพียงตัวประกอบที่แทบไม่มีบทพูดเลยเท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 20 สิงหาคม 2556