ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเรื่องราวและปัญหาความวุ่นวาย ภายในองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะค่อยๆ คลี่คลายลง เพราะหลังการเข้ามารับตำแหน่ง รักษาการผู้อำนวยการ อภ. ของ ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานนัก

แต่ก็ถือว่าฝีไม้ลายมือการบริหารงาน รวมถึงการแก้วิกฤติปัญหาต่าง ต้องตาต้องใจ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ไม่น้อย เพราะถึงขั้นเอ่ยปากชม ภญ.พิศมร กลางวงแถลงข่าว โต้กลับ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการ อภ. หลังเดินหน้าฟ้องทุเลาศาลปกครองกลาง กรณีสั่งปลดไม่ชอบธรรม เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา

  หากย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือน พ.ค. บอร์ด อภ. มีมติเลิกจ้าง นพ.วิทิต โดยอ้างเหตุผลถึงข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างน้อย 3 กรณี คือ 1.ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก 2.การตัดสินใจสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอล 100 ตัน เป็นเวลานานโดยไม่มีแผนนำไปผลิต และ 3.ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต

ทว่า หลังจากนั้น 1 เดือน เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นพ.วิทิต ยื่นฟ้อง อภ.กับพวกรวม 4 ราย ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของ อภ. ที่ให้ตนพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ. เนื่องจากขั้นตอนไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ปมขัดแย้ง อภ.เริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีหนังสือแจ้งไปยัง อภ. สรุปใจความสำคัญว่า ตามที่ นพ.วิทิต มีคำขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ศาลสั่งห้ามหรือระงับมิให้ อภ. และพวก ดำเนินการสรรหาหรือแต่งตั้งผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่ และมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.ดังเดิม โดยอ้างว่าจะสามารถขัดขวางการโอน หรือการกระทำที่มุ่งแสวงหาประโยชน์จากงบสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ จำนวน 75 ล้านบาท การนำเงินสะสมของ อภ. จำนวน 4,000 ล้านบาท ไปใช้ในทางมิชอบ การแปรรูป อภ.ไปเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทยาต่างชาติ เป็นเพียงการคาดการณ์เรื่องที่ไม่มีความแน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร                      

ขณะเดียวกันการห้ามหรือระงับมิให้ อภ. ดำเนินการสรรหาหรือแต่งตั้งผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่ จะส่งผลกระทบให้เกิดข้อขัดข้องในการบริหารกิจการของ อภ. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจสำคัญในการผลิตและจัดหายา เพื่อสนองตอบต่อการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี

จากนี้คงต้องจับตาดูว่า นพ.วิทิต จะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ ก่อนศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 กันยายน 2556