ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ท่ามกลางความขัดแย้งภายใน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ชุลมุนวุ่นวายและยังไม่สามารถหาข้อยุติรอยร้าวร่วมกันได้ ระหว่างฝ่ายผู้บริหารระดับสูง ภายใต้การบริหารงานของ นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ กับฝ่ายปฏิบัติกลุ่มใหญ่  นำโดยชมรมแพทย์ชนบท แม้ว่าวันนี้จะดูเหมือนว่าจะเบาบางลง ทว่าความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่าเรื่องราวทั้งหมดจะยังไม่จบลงง่ายๆ เพียงเท่านี้

เป็นที่ทราบกันดีกว่าจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในครั้งนี้ เกิดจากชมรมแพทย์ชนบทไม่เห็นด้วยกับนโยบายพีฟอร์พี ทำให้การงัดข้อกันในช่วงแรกนั้น เป็นการต่อสูงเชิงนโยบาย มีการนำเอาองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาหักล้างซึ่งกันและกัน แต่ต่อมาความขัดแย้งเริ่มขยายวงเพิ่มมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างพยายามดึงกลุ่มก้อนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการภายใน สธ. นักวิจัย นักวิชาการ กลุ่ม รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป กลุ่มเอ็นจีโอสายสุขภาพ รวมไปถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการสุมไฟและเพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันการต่อสู้ก็เริ่มขยายไปสู่การขุดคุ้ยปมจัดซื้อจัดจ้าง

ทั้งนี้ ว่ากันว่าหมัดแรกเริ่มต้นจากการที่ สธ. ส่งหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ให้เข้ามาตรวจสอบปมวัตถุดิบยาพาราเซตามอลปนเปื้อน ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก และยังรวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานผลิตยาเอดส์ ของ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ด้วย ซึ่งตรงนี้คนในแวดวงสุขภาพหลายคน ระบุตรงกันว่าอาจเป็นเพราะว่า ฝ่ายผู้บริหาร สธ. คิดว่าการออกมาเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบทในครั้งนี้เชื่อมโยงถึง อภ.และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชี้มูลของดีเอสไอ ว่าพบความผิดปกติในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล และส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)หลังจากใช้ระยะเวลาสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกว่า 1 เดือน ทำให้อีกฝ่ายเชื่อมั่นว่า มีการตั้งธงบทสรุปนี้ไว้ตั้งแต่แรกแล้ว

ถึงขั้น นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ออกมาบอกว่า ในฐานะแพทย์ผมมีจิตสำนึกในการดูแลผู้ป่วย ในครั้งที่มีน้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ. 2554 อภ.ได้เตรียมความพร้อม ด้วยการจัดหาเคมีภัณฑ์หลายตัว เช่น พาราเซตามอลที่เป็นปัญหา ยาเบาหวาน และยาความดันโลหิตสูง เตรียมสำรองไว้ทุกตัว นอกจากนี้ได้สำรองน้ำเกลือ น้ำยาฟอกไต โดยไม่คิดว่าสิ่งที่ทำไปในวันนั้น จะถูกตรวจสอบและตั้งประเด็นที่ทำให้พวกเราชาว อภ. ผิดหวังมาก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าชมรมแพทย์ชนบทจะนิ่งเฉยและยอมถูกโจมตีอยู่ฝ่ายเดียว เพราะหลังจาก สธ.ยื่นหนังสือถึงดีเอสไอไม่นาน เครือข่ายกลุ่มคนไม่เอา นพ.ประดิษฐ ก็ได้เปิดฉากแลกหมัด แฉปมจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลให้กับ อสม.ทั่วประเทศ ของฝ่ายผู้บริหาร สธ. โดย นพ.เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการสั่งซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด 81,685 เครื่อง เพื่อแจก อสม.ทั่วประเทศ ในราคาเครื่องละ 1,800 บาท รวมเป็นเงิน 147,033,000 บาท มีความผิดปกติ เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลจะใช้วิธีการซื้อเฉพาะแผ่นตรวจน้ำตาล เพราะเครื่องตรวจจะได้แถมมากับแผ่นตรวจอยู่แล้ว ดังนั้นทางชมรมแพทย์ชนบท จะทำการรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นเรื่องต่อ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

ร้อนไปถึง นพ.ณรงค์ ต้องรีบออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในวันรุ่งขึ้น ว่า ตนได้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว เนื่องจากในขั้นตอนการปฏิบัติยังขาดความชัดเจน และมีประเด็นรายละเอียดการสั่งซื้อ ซึ่งอาจขัดต่อระเบียบของกระทรวงหลายประเด็น จึงได้มีคำสั่งให้ชะลอการใช้งบประมาณดังกล่าวออกไปก่อน รวมทั้งชะลอการจัดซื้อจัดจ้าง และทบทวนโครงการด้วย พร้อมอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่างบจัดซื้อจัดจ้างนั้น เป็นของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)จำนวน 153 ล้าน เพื่อเป็นการสนับสนุนอุปกรณ์ให้กับ อสม. โดยเป็นโครงการตั้งเรื่องเมื่อปี 2555 ใช้งบประมาณปี 2556 จึงไม่เกี่ยวข้องกับ นพ.ประดิษฐ แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ก็ได้ออกมาชี้แจงด้วยว่า การซื้อเฉพาะเครื่องตรวจวัดน้ำตาลและแถบตรวจวัด ราคาของแถบตรวจจะตกอยู่ที่ประมาณ 8 บาท ซึ่งถูกกว่าการซื้อแถบอย่างเดียวแล้วแถมเครื่องตรวจ เพราะราคาอยู่ที่ประมาณ 12 บาท ซึ่งยังมีข้อผูกมัดว่าจะต้องซื้อแถบอย่างน้อย 1,000 ชิ้น เมื่อเปรียบเทียบแล้วไม่ได้มีการเสียเปรียบแต่อย่างใด

"ส่วนข้อสงสัยที่ว่า อสม.ไม่มีสิทธิในการเจาะเลือด ต้องบอกว่าเดิมที อสม.ได้รับการอนุญาตให้เจาะเลือดฝอยที่ปลายนิ้ว เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียมานานแล้ว ตามประกาศของ สธ. ดังนั้นการเจาะเลือดเพื่อตรวจน้ำตาลก็เป็นการตรวจในลักษณะเดียวกัน ซึ่งได้รับอนุญาตจากสภาเวชกรรมและสภาเทคนิคการแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ได้เจาะโดยพลการ ที่สำคัญ อสม. ได้ผ่านการอบรมและดำเนินการมายาวนานแล้ว สามารถเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วของชาวบ้านได้ ไม่ได้ผิดอะไร" น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

แม้จะดูเหมือนว่า สธ. ออกมารับลูกได้อย่างทันท่วงที แต่ชมรมแพทย์ชนบทก็ยังคงเดินหน้าตรวจสอบปมจัดซื้อจัดจ้างต่อ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา นพ.เกรียงศักดิ์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาล โดยระบุว่ายังมีประเด็นข้อสงสัยอยู่ว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขมีการโอนงบประมาณ และสั่งการให้จังหวัดต่างๆ ไปจัดซื้อแจก อสม.นั้น ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับอนุญาตให้ อสม.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยการเจาะเลือดจากปลายนิ้วเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดผู้อื่นได้ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจเกินหน้าที่ สั่งการจัดซื้อก่อนมีกฎหมายรองรับ  "คาดว่าดีเอสไอจะเชิญเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะเป็นวันที่ 16 พ.ค. และจากการพูดคุยกับ นายธาริต ก็ไม่ได้มีความเห็นค้านแต่อย่างใด เนื่องจาก สธ.ไม่ควรรีบร้อนจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด เพราะยังไม่มีกฎหมาย หรือกฎระเบียบใดๆ ออกมา ส่วนที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพออกมาพูดว่า สภาวิชาชีพต่างๆ ทั้ง สภาเทคนิคการแพทย์ และ แพทยสภา รับรองให้ อสม.เจาะเลือดได้นั้น ขัดกับข้อเท็จจริง เพราะว่ากลุ่มแพทย์ชนบทพูดคุยกับสภาเทคนิคการแพทย์แล้ว พบว่าไม่ได้ต้องการให้ อสม.ดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องจากการจะประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วยการเจาะเลือดต้องผ่านการอบรม มีการเรียนการสอน เพื่อเจาะเลือดให้ถูกวิธี สะอาดและปลอดภัย ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ จะทำได้" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

จากนี้ไป คงต้องจับตาดูว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จะดำเนินการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกรณีจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจน้ำตาลอย่างไรต่อไป และปมทุจริตของฝ่ายใดจะถูกขุดขึ้นมาเป็นเครื่องมือต่อสู้กันอีก เพราะว่าศึกกระทรวงหมอครั้งนี้ คงไม่จบลงง่ายๆ ดังที่ทั้งสองฝ่ายกล่าวไว้อย่างแน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 พฤษภาคม 2556