ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 6 ตุลาคม 2556 ชมรมแพทย์ชนบทอีสาน นำโดย นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการรพ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ออกแถลงการณ์คัดค้านแนวทางการรื้อการจัดงบประมาณหลักประกันสุขภาพและการเอางบภาคอีสาน 5,000 ล้านไปให้ภาคกลาง

นพ.วชิระ ระบุในแถลงการณ์ว่า การประชุมบอร์ดสปสช.ที่จะถึงในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคมนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยารนำของปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะรื้อแนวทางการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีงบประมาณ 2557 ใหม่ ทั้งที่บอร์ดสปสช.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดสรรงบไปแล้ว และนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ.ก็ได้ลงนามในประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 ความพยายามครั้งนี้ ทางชมรมแพทย์ชนบทภาคอีสานตั้งข้อสังเกต 3 ประการว่า

1.อาจจะขัดต่อพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้จัดสรรงบประมาณตรงไปที่โรงพยาบาลโดยตรง

2.การพยายามจะแก้ไขหลักเกณฑ์จัดสรรงบครั้งนี้มุ่งจะใช้ระบบราชการแบบเจ้าขุนมูลนายในการบริหารจัดการภายใต้ข้ออ้างที่โจมตีว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งฐานะการเงินไม่ดี ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงนั้นสามารถใช้กลไกบริหารปกติเข้าไปดำเนินการแก้ไขได้  แต่กลับมารื้อใหญ่อย่างมีเลศนัย

3.การให้เขตมีอำนาจจัดสรรงบประมาณภายใต้โครงสร้างราชการซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ายังขาดหลักธรรมาภิบาลจนเกิดเหตุการณ์ทุจริตคอรัปชั่นปรากฎ  ครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ MOC (Minimum Operating Cost : การจัดสรรงบค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ) ซึ่งไม่มีใครเคยรับรู้ขึ้นมา เพื่อโยกงบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ในภาคอีสาน 19 จังหวัดงบประมาณจะถูกโยกงบประมาณออกไปทันทีกว่า 5,000 ล้านบาท นำไปให้กับเขตสุขภาพในภาคกลางที่รวยกว่า มีโอกาสกว่า ส่วนคนอีสานจะถูกลดโอกาสในบริการสุขภาพ สร้างความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น

“ชมรมแพทย์ชนบทภาคอีสานจึงขอคัดค้านความพยายามของนายประดิษฐ์และนายณรงค์จนถึงที่สุด และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนภาคอีสานและผู้รักความเป็นธรรมทั้งมวลร่วมติดตามและตรวจสอบการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขยุคนายประดิษฐ์และนายณรงค์ และเห็นควรให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้บุคคลทั้งสองได้พ้นจากการทำหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข เพราะตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาสร้างแต่ความชะงักงันให้เกิดแก่บริการภาครัฐ และทำลายจิตวิญญาณและความน่าเชื่อถือของกระทรวง”

แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบทภาคอีสาน

วันที่  6  ตุลาคม  2556  นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา

เรื่อง ขอคัดค้านแนวทางการรื้อการจัดงบประมาณหลักประกันสุขภาพ

และการเอางบภาคอีสาน 5,000 ล้านไปให้ภาคกลาง

นับตั้งแต่ที่นายประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจวนจะครบ 1 ปี ได้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไปในทิศทางที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยว่าจะมุ่งให้ภาคธุรกิจบริการสุขภาพของเอกชนเติบโต มากกว่าการพัฒนาสุขภาพของภาครัฐที่มีโรงพยาบาลต่างๆในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 800 แห่ง ทั้ง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน เกิดการชะงักงันในทุกด้าน อาทิ

1.ความสับสนอึมครึมในการบริหารจัดการกำลังคนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข

2.การไม่สามารถบรรจุนักเรียนทุนเป็นข้าราชการได้ทันในรอบเดือนตุลาคม 2556 และอาจลากยาวจนถึงปี 2557

3.กรณีปรับเปลี่ยนระบบค่าตอบแทนเป็นแบบพีฟอร์พีที่สร้างความขัดแย้งอย่างมาก จนต้องให้ภ4.เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาช่วยดำเนินการคลี่คลายปัญหา

5.การตั้งกลไกเขตสุขภาพขึ้นมาทำหน้าที่ โดยที่ขาดการมีส่วนร่วมในการออกแบบ

ล่าสุดได้มีความพยายามของปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ที่จะทบทวนมติบอร์ด สปสช. ในการจัดสรรเรื่องการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2557 โดยร่วมกับรัฐมนตรีประดิษฐ ประธานบอร์ด สปสช.เองที่จะยอมลบมติบอร์ดที่ตนเองเซ็นไปแล้ว เพื่อจะรื้อวิธีการจัดสรรใหม่ในการประชุมบอร์ด วันที่ 7 ตุลาคมนี้ ทางชมรมแพทย์ชนบทภาคอีสานมีข้อสังเกตที่น่ากังวลหลายประการได้แก่

1.มีความหมิ่นเหม่และอาจจะถูกร้องเรียนว่าขัดต่อกฎหมายหลักประกันสุขภาพ 2545 ที่ได้กำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณลงสู่หน่วยบริการคู่สัญญาโดยตรงภายหลังการหักเงินเดือนบุคลากรออก โดยแยกออกเป็นงบบริการผู้ป่วยนอก, ผู้ป่วยใน, งบดูแลส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค, งบลงทุนค่าเสื่อมตลอดจนกองทุนย่อยอีก 5-6 กองทุน เช่น กองทุนเอดส์ กองทุนโรคไต กองทุนโรคจิตเวช เป็นต้น

2.ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่างบประมาณหลักประกันสุขภาพได้ทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพต่างๆ มากขึ้น ผลลัพธ์ด้านสุขภาพดีขึ้น สามารถช่วยลดภาวะการล้มละลายเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของครัวเรือน สร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ที่ผ่านมานายประดิษฐ์อยู่นอกวงการไม่มีส่วนร่วมในการบุกเบิกฟันฝ่าพัฒนาในการสร้างระบบหลักประกัน แต่พื้นเพที่มาจากภาคธุรกิจมุ่งมองแต่เรื่องประสิทธิภาพจนลืมคิดไปว่ารัฐได้ลงทุนไปเพียงพอหรือไม่ และต้องขจัดปัญหาอะไรอีกบ้าง การพยายามจะแก้ไขหลักเกณฑ์จัดสรรงบครั้งนี้มุ่งจะใช้ระบบราชการแบบเจ้าขุนมูลนายในการบริหารจัดการภายใต้ข้ออ้างที่โจมตีว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งฐานะการเงินไม่ดี ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงนั้นสามารถใช้กลไกบริหารปกติเข้าไปดำเนินการแก้ไขได้  แต่กลับมารื้อใหญ่อย่างมีเลศนัย

3.ตั้งกลไกและให้อำนาจเขตบริการสุขภาพพิจารณาจัดสรรงบประมาณภายใต้โครงสร้างอำนาจราชการซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ายังขาดหลักธรรมาภิบาลจนเกิดเหตุการณ์ทุจริตคอรัปชั่นปรากฎ  ครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ MOC ซึ่งไม่มีใครเคยรับรู้ขึ้นมา เพื่อโยกงบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ในภาคอีสาน 19 จังหวัดงบประมาณจะถูกโยกงบประมาณออกไปทันทีกว่า 5,000 ล้านบาท นำไปให้กับเขตสุขภาพในภาคกลางที่รวยกว่า มีโอกาสกว่า ส่วนคนอีส่านจะถูกลดโอกาสในบริการสุขภาพ สร้างความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น

ชมรมแพทย์ชนบทภาคอีสานจึงขอคัดค้านความพยายามของนายประดิษฐ์และนายณรงค์จนถึงที่สุด และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนภาคอีสานและผู้รักความเป็นธรรมทั้งมวลร่วมติดตามและตรวจสอบการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขยุคนายประดิษฐ์และนายณรงค์ และเห็นควรให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้บุคคลทั้งสองได้พ้นจากการทำหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข เพราะตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาสร้างแต่ความชะงักงันให้เกิดแก่บริการภาครัฐ และทำลายจิตวิญญาณและความน่าเชื่อถือของกระทรวง